ความหน้ากลัวของ ไมโครพลาสติก

ความน่ากลัวของ “ไมโครพลาสติก”
เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจคุณสมบัติของไมโครพลาสติกก่อนว่า เมื่อไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำ มันมีคุณสมบัติในการดูดซับสารพิษสารเคมีต่างๆ เช่น ดีดีที (Dichlorodiphenyl trichloroethane) และพีซีบี (Polychlorinated biphenyls) จำพวก ยาฆ่าแมลง กาว สี สารกันรั่วซึม และน้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพเรื้อรัง รวมไปถึงการรบกวนระบบฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงยีน และเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งเจ้าไมโครพลาสติกตัวนี้มันสามารถเล็ดลอดผ่านตัวกรองในกระบวนการบำบัดน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและสามารถแพร่กระจายไปในท้องทะเลได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกันนั้นการกำจัดหรือทำความสะอาดทำได้ยาก

วงจรการเกิดไมโครพลาสติก
เมื่อไมโครพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ (เพราะมีความหนาแน่นต่ำ) ทำให้ปะปนไปกับแพลงก์ตอนที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำ ซึ่งทำให้สามารถพบไมโครพลาสติกในกระเพาะของสัตว์น้ำหลายชนิดได้ อาทิ ปลา หอย เต่า แมวน้ำ เม่นทะเล ไส้เดือนทะเล เป็นต้น เรียกได้ว่าปรากฏในห่วงโซ่อาหาร พบได้ตั้งแต่แพลงก์ตอนสัตว์ไปจนถึงวาฬเลยทีเดียว ผลกระทบต่อสัตว์ที่ได้รับไมโครพลาสติกซึ่งดูดซับสารพิษเข้าไปในร่างกายพบหลักฐานมากมายทั้งในระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด ผลกระทบต่อระบบหัวใจ ความเป็นพิษต่อตับ รวมไปถึงสารพิษที่ทำให้ต่อมไร้ท่อเปลี่ยนระดับฮอร์โมนเพิ่มอัตราการเกิดโรคบางอย่างและก่อให้เกิดปัญหาการสืบพันธุ์และการเสียชีวิต ในความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่กินต่อกันเป็นทอดๆ ทำให้ไมโครพลาสติกระจายตามลำดับการกินตามห่วงโซ่อาหาร โดยมีมนุษย์อยู่ปลายทางการบริโภคสัตว์น้ำที่ได้รับการปนเปื้อนไมโครพลาสติกเหล่านี้อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่พบการศึกษาวิจัยออกมายืนยันชัดเจนถึงผลกระทบการบริโภคอาหารที่มีปนเปื้อนไมโครพลาสติกต่อมนุษย์ แต่กระบวนการย่อยสลายก็ไม่อาจทำได้ รวมถึงการสะสมสารพิษในร่างกายย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่านักวิจัยกำลังให้ความสำคัญ ความสนใจ และพยายามศึกษาในประเด็นผลกระทบต่อไป

แพลงก์ตอน
แพลงก์ตอน (อังกฤษ: plankton) มาจากคำว่า πλανκτος ("planktos") ในภาษากรีกแปลว่า wanderer หรือผู้ท่องเที่ยวไปโดยไร้จุดหมาย คือสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ไม่สามารถว่ายน้ำไปยังทิศทางที่ต้องการอย่างอิสระ

ประเภทของแพลงก์ตอน
1. แพลงก์ตอนพืช (อังกฤษ: Phytoplankton มาจากคำว่า phyton ในภาษากรีกแปลว่า พืช) คือ น้ำสีเขียว แพลงก์ตอนเป็นพืชเซลล์เดียว เป็นสาหร่ายชนิดหนึ่ง พวกนี้สามารถสร้างอาหารเองได้ คือสาหร่ายต่างๆ เช่น ไดอะตอม และสาหร่ายเปลวไฟ ในน้ำทุกชนิดมีแพลงก์ตอนชนิดนี้อาศัยอยู่
2. แพลงก์ตอนสัตว์ (อังกฤษ: Zooplankton มาจากคำว่า zoon ในภาษากรีกแปลว่า สัตว์ ) คือโพรทิสต์พวกโพรโทซัว แมงกะพรุน หวีวุ้น ตัวอ่อนของสัตว์หลายชนิด เช่น กุ้ง ปู กั้ง หอย ปลาบางชนิด พวกจุลินทรีย์ พวกบาซิลัสเป็นต้น

วันที่: 
Mon 17 June 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81
แหล่งที่มา: 
https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/ขยะ-ระเบิดเวลาสิ่งแวดล/
Hits 1,251 ครั้ง