ดาวยักษ์แดง

ดาวยักษ์แดง (red giant)

ดาวยักษ์แดงเป็นดาวขนาดใหญ่ มีอุณหภูมิที่ผิวประมาณ 2,500 ถึง 3,000 องศาเคลวิน (เป็นชนิดสเปกตรัม M หรือ K) รัศมีประมาณ 10 ถึง 100 เท่าของรัศมีของดวงอาทิตย์ ดาวยักษ์แดงเป็นสถานะหนึ่งของวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับดาวฤกษ์มวลตั้งแต่น้อยกว่าดวงอาทิตย์และดาวฤกษ์ที่มวลมากกว่ามวลของดวงอาทิตย์หลายสิบเท่า ดาวยักษ์แดงที่ใหญ่ที่สุดจะเกิดจากดาวฤกษ์มวลมากเรียกว่า ดาวมหายักษ์แดง (red supergiants)
ระยะทาง มวล และรัศมีของดาวยักษ์แดง
แม้ว่าดาวยักษ์แดงจะสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเหมือนดาวฤกษ์ทั่ว ๆ ไป แต่มันก็หายาก เพราะว่าดาวยักษ์แดงเป็นช่วงอายุสั้น ๆ ของดาวฤกษ์ ในช่วงก่อนปี 1990 นักดาราศาสตร์ยังไม่ค่อยรู้ระยะทาง และความสว่างของดาวยักษ์แดง แต่หลังจากภารกิจ Hipparcos (ในช่วงปี 1989-1993) นักดาราศาสตร์สามารถวัดระยะทางของดาวยักษ์แดงจำนวนมากได้อย่างแม่นยำ แต่มีเพียงไม่กี่ดวงที่นักดาราศาสตร์สามารถวัดมวลได้ เนื่องจากมวลของดาวฤกษ์สามารถวัดได้เฉพาะเมื่อมันเป็นระบบดาวคู่ สำหรับระบบดาวคู่ในกรณีที่ดาวดวงหนึ่งเป็นดาวยักษ์แดง มันก็จะกลืนดาวที่เป็นคู่ของมันได้ง่ายถ้าคู่ของมันอยู่ใกล้มันมากเกินไป แต่ถ้าคู่มันอยู่ไกลเกินไปมันก็จะใช้เวลาเป็นศตวรรษหรือมากกว่าในการโคจรครบหนึ่งรอบ ซึ่งทำให้การวัดมีความแม่นยำน้อยลงเช่นกัน

วันที่: 
Tue 27 August 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%87
แหล่งที่มา: 
http://astro.phys.sc.chula.ac.th/IHY/Stars/Red_giant.htm
Hits 3,458 ครั้ง