ฝันร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ฝันร้ายในวัยเด็ก - เด็กๆ มักจะฝันร้าย เพราะกลัวเรื่องเล่าสยองขวัญจากผู้ใหญ่ และเพื่อน ๆ ในกลุ่ม หรือจากการดูหนังสยองขวัญผ่านทางทีวี จนฝังใจเก็บเอาไปฝันว่าตัวเองกำลังโดนผีหลอกบ้าง มีคนจะมาเอาชีวิตบ้าง เป็นต้น
          ฝันร้ายในผู้ใหญ่ - ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างหนัก มีความเครียด เช่น ประสบอุบัติเหตุเฉียดตาย ถูกทำร้ายร่างกาย หรือชีวิตต้องพบเจอแต่เรื่องแย่ๆ จนกระทั่งเคยเห็นผีมาหลอก เป็นต้น จึงทำให้มีอาการวิตกกังวล เก็บงำเอาไปฝันร้ายได้

ฝันร้ายเกิดขึ้นได้อย่างไร
          ฝันร้ายมักเกิดขึ้นในช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement: REM) โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ฝันร้ายมักเกิดภาวะนี้ในตอนใกล้เช้า เนื่องจากช่วงหลับฝันกินระยะเวลาของการนอนหลับยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้ตื่น ทั้งนี้ ช่วงหลับฝันเป็นระยะนอนหลับที่สมองตื่นตัวและประมวลความจำหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ส่งผลให้สิ่งที่สมองประมวลออกมานั้นปรากฏภาพเหมือนจริงและส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกเมื่อนอนหลับฝัน แต่ละคนจะฝันแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่แล้ว ผู้คนมีรูปแบบฝันร้ายที่เจอได้บ่อยเหมือนกัน เช่น ฝันว่าวิ่งหนีจากสิ่งที่เป็นอันตรายหรือตกจากที่สูง ส่วนผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เช่น ประสบอุบัติเหตุหรือถูกทำร้าย ก็อาจฝันถึงเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำอยู่บ่อย ๆ

          ในบางกรณี ฝันร้ายที่รุนแรงและเกิดซ้ำๆ ก็อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติทางจิตประสาท และควรพบจิตแพทย์เพื่อการบำบัดทั้งนี้ หากเกิดฝันร้ายเป็นประจำและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ภาวะดังกล่าวอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพ

ปัจจัยที่ทำให้ฝันร้าย
          ฝันร้ายจัดเป็นภาวะของการนอนหลับที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยมีปัจจัยที่ทำให้หลับฝันร้ายหลายประการ ดังนี้
         
1. รับประทานอาหารก่อนเข้านอน - การรับประทานอาหารก่อนนอนส่งผลให้การทำงานของระบบเมตาบอลิซึมเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งสัญญาณให้สมองตื่นตัวมากกว่าเดิม
          2. เจ็บป่วย - ผู้ที่ล้มป่วยและมีไข้ร่วมด้วยอาจฝันร้ายจากการไม่สบายทางกายและจิตใจ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
          3. ถอนยาหรือสารเสพติด - การถอนยารักษาโรคบางอย่าง เลิกเหล้า หรือสารที่มีฤทธิ์ระงับประสาท อาจเกี่ยวเนื่องกับฝันร้าย หากผู้ที่กำลังถอนยาหรือสารเสพติดบางอย่างเกิดฝันร้ายบ่อย ควรปรึกษาแพทย์ทันที
          4. ผลข้างเคียงจากการใช้ยา - ยารักษาโรคบางอย่างส่งผลให้เกิดฝันร้าย เนื่องจากส่วนประกอบของตัวยามีปฏิกิริยากับสารเคมีในสมอง เช่น ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาระงับอาการปวดที่มีฤทธิ์เสพติด หรือยาลดความดันโลหิต
          5. ประสบปัญหาสุขภาพจิต - ความเครียดหรือความวิตกกังวลนับเป็นปัจจัยที่ทำให้ฝันร้ายได้สูง คิดเป็นร้อยละ 60 นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพจิตหลายอย่างทำให้ฝันร้ายได้ เช่น โรคซึมเศร้า ทั้งนี้ ผู้ที่ประสบภาวะเครียดหลังประสบเหตุสะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) ก็มักฝันร้ายถึงเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นกับตนเอง โดยจะฝันร้ายซ้ำ ๆ และเป็นอาการป่วยเรื้อรัง
          6. ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการนอน - หากภาวะฝันร้ายได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุอื่นตามที่กล่าวมา อาการฝันร้ายเรื้อรังอาจเป็นผลจากโรคที่เกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือกลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข ทั้งนี้ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวหรือญาติพี่น้องประสบภาวะฝันร้ายอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดการฝันร้ายเรื้อรังได้

          PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) คือ สภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากที่เผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างมาก อาทิ ภัยพิบัติ การก่อการจลาจล การฆาตกรรม การปล้นฆ่า ข่มขืน เป็นต้น ซึ่งหลังเผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก จนทุกข์ทรมาน ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในหน้าที่การงานและการใช้ชีวิตประจำวันต่างๆ ตามมา

วันที่: 
Tue 13 August 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3
แหล่งที่มา: 
https://www.pobpad.com, https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=1248
Hits 1,269 ครั้ง