มาตรการควบคุม "ขยะ"

หลายประเทศตั้งเป้าหมายในการกำจัดถุงพลาสติกที่เป็นส่วนประกอบหลักของขยะพลาสติกในทะเล ทั้งทวีปอเมริกา แอฟริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ที่ออกมาตรการเพื่อลดจำนวนถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ทั้งการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ให้ใช้ถุงแบบใช้ซ้ำได้ การเก็บค่าถุงพลาสติกจากลูกค้า การเก็บภาษีสำหรับการผลิตและการนำเข้าถุงพลาสติก และการเก็บภาษีถุงพลาสติก

ยกตัวอย่าง ประเทศไอร์แลนด์ เริ่มบังคับใช้การจัดการขยะโดยการเก็บภาษีถุงพลาสติก 15 ยูโรเซนต์ต่อใบ เมื่อปี 2544 ซึ่งปีแรกที่เริ่มเก็บภาษี พบว่า สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ประมาณร้อยละ 90 จาก 1,200 ล้านใบเหลือเพียง 235 ล้านใบ ทำให้ขยะทั่วประเทศมีปริมาณลดลงอย่างมาก ต่อมาปี 2550 ไอร์แลนด์ขึ้นภาษีถุงพลาสติกเป็น 22 ยูโรเซนต์ หลังที่ยอดการใช้ถุงพลาสติกในช่วงปี 2547-2549 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านมาตรการลดปัญหาไมโครบีดส์ ไมโครพลาสติกที่มักใช้ในอุตสาหกรรมการดูแลผิวและเครื่องสำอาง อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ลงนามห้ามใช้ ไมโครบีดส์เพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มความปลอดภัยของแหล่งน้ำ

ทางด้านกลุ่มประเทศที่เป็นต้นเหตุของการปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรจำนวนมากที่สุดในโลก โดยมีผู้แทนจากประเทศไทย จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ให้สัตยาบันจะไม่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล แต่ยังไม่ปรากฏมาตรการในการดำเนินงานที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดผลอย่างรวดเร็ว ในเวทีการประชุมนานาชาติว่าด้วยมหาสมุทร (The Ocean Conference) ของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 5-9 มิถุนายน 2560

ซึ่งในประเทศไทย สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กำลังเสนอร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2560) ในวันที่ 16 กันยายน ที่มีการผลักดันการแก้ไข้ปัญหาขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย และสารอันตรายของประเทศไทย ซึ่งได้มุ่งเน้นการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการป้องกันแก้ปัญหาอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและมูลฝอยติดเชื้อ

ในขณะเดียวกัน คุณอรยุพา สังขะมาน ผู้แทนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในตำแหน่งอนุกรรมการการจัดทำรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยอยากให้เพิ่มเติมมาตรการการควบคุมขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง เช่นการจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิตพลาสติก หรือการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภท รวมถึงไปถึงการควบคุมไมโครพลาสติก

แม้การปลูกจิตสำนักให้แก่ประชาชนในการลด ละ เลิก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับถุงพลาสติกที่ไม่จำเป็นจะเป็นเรื่องดี แต่มันเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายทางเท่านั้นซึ่งได้ผลไม่เกินร้อยละ 10 และทิศทางการรณรงค์จากหลายพื้นที่หรือบริษัทที่ทำการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดการตระหนัก เช่น บริษัท Decathlon ที่มีนโยบายคิดเงินค่าถุงจากลูกค้า แต่การดำเนินการเพียงบางพื้นที่หรือบางบริษัทยังเป็นเพียงการรณรงค์ที่ไม่แพร่หลายไปทั่วประเทศ การออกกฎหมาย เช่น การเก็บภาษีถุงพลาสติกจากบริษัทผู้ผลิต หรือการมีนโยบายให้ลูกค้าจ่ายเงินค่าถุงพลาสติกจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง เกิดเป็นมาตรฐานการจัดการดูแล ควบคุม และแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพที่แท้จริง ดังที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

เมื่อเราไม่อาจแบ่งแยกมหาสมุทรออกจากกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกยังคงแผ่กระจายวงกว้าง สัตว์น้อยใหญ่ ตั้งแต่แพลงก์ตอน ปลา นก วาฬกำลังประสบปัญหา

แล้วมนุษย์ที่อยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารเล่า… คุณจะรับมือกับความเสี่ยงนี้อย่างไร?

วันที่: 
Tue 2 July 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1-%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0
แหล่งที่มา: 
https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/ขยะ-ระเบิดเวลาสิ่งแวดล/