อันตรายสัตว์ทะเลมีพิษ

ท้องทะเลไทยนับว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด คนไทยได้นำสัตว์ทะเลเหล่านี้มาบริโภคเป็นอาหารกันเป็นเวลาช้านาน แต่ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ไม่สามารถนำมาบริโภคได้เนื่องจากมีพิษ และบางชนิดที่ไม่มีพิษต่อการบริโภค แต่จะเป็นอันตรายหากไปสัมผัส หรือไปอยู่ในบริเวณที่มีสัตว์ทะเลเหล่านั้นชุกชุม ซึ่งแบ่งความอันตรายออกเป็น อันตรายจากสัตว์ทะเลที่มีพิษ กัด ทิ่มแทง หรือต่อย (venomous animals) และปล่อยสารพิษเข้าสู่ร่างกายตรงบริเวณบาดแผลนั้น พิษของสัตว์ทะเลอาจอยู่ที่เงี่ยง ก้าน ครีบ เขี้ยว และมีเข็มพิษที่เรียกว่า นีมาโตศีย์สต์ (nematocyst) ตัวอย่างได้แก่ ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน งูทะเล ปลาสิงโต และเม่นทะเล อันตรายจากการบริโภคเนื้อ และอวัยวะของสัตว์ทะเลที่มีพิษ (poisonous animals) สัตว์ทะเลบางชนิดมีการสะสมสารพิษในบริเวณเนื้อเยื่ออวัยวะภายใน และรังไข่ เมื่อมนุษย์นำเอาสัตว์ทะเลนั้นมาบริโภค จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น แมงดาทะเล ปูบางชนิด และปลาปักเป้า เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีสารพิษสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อเป็นบางช่วงฤดูกาล เช่น หอยแมลงภู่ หอยนางรม ที่เพาะเลี้ยงอยู่ตามชายฝั่งที่มักเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเป็นประจำในช่วงฤดูฝน หรืออาจได้รับสารพิษจากไดโนแฟลกเจลเลตที่เป็นสาเหตุของปรากฏณ์ดังกล่าวเข้าไป เมื่อมนุษย์นำสัตว์มาบริโภคทำให้ได้รับสารพิษนั้นได้ ในทำนองเดียวกันหากดินตะกอนบริเวณชายฝั่งมีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง ที่พัดพามาจากแผ่นดิน สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นอาจมีการสะสมของสารพิษดังกล่าวด้วยเช่น หอยสองกาบที่อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเล ได้แก่ หอยลาย หอยแครง เป็นต้น ซึ่งกินอาหารโดยการกรองดินตะกอนและอินทรีย์สารเข้าไป เมื่อคนบริโภคหอยดังกล่าวทำให้ร่างกายได้รับสารพิษของโลหะหนัก และยาฆ่าแมลง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานในประเทศไทยว่ามีการสะสมโลหะหนัก และยาฆ่าแมลงในหอยเหล่านี้ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อการบริโภค

วันที่: 
Tue 8 October 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9
แหล่งที่มา: 
https://www.sanook.com/travel/1396525/
Hits 1,237 ครั้ง