10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2562

สดร.เผย10เรื่องดาราศาสตร์ ที่น่าติดตามในปี2562 
สดร.เผยเรื่องเด่นดาราศาสตร์ปีหน้า ชูครบรอบ 50 ปี ยานอะพอลโล 11 นำมนุษย์เหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก  พร้อมชวนติดตามปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สำคัญทั้งจันทรุปราคาบางส่วนและสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย   
 

วันนี้( 19 ธันวาคม 2561)ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)   หรือ สดร.  แถลงข่าว  “10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตามในปี 2562”   

ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสดร. เปิดเผยว่า  เรื่องเด่น10 เรื่องที่สดร.นำมาเสนอ คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562  ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ  โดยในปี 2562 นี้ เรื่องแรกก็คือ การครบรอบ 50 ปี ยานอะพอลโล 11 ที่นำมนุษย์เหยียบบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม  2512    ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้ามหาศาลทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เรื่องต่อมาคือการครบรอบ 100 ปี สุริยุปราคาเต็มดวงพิสูจน์ทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ ( 29 พฤษภาคม) ซึ่งเป็นการพิสูจน์ที่ทำให้มุมมองของมนุษย์ต่อเอกภพเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง  ส่วนเรื่องที่สามคือ สดร.จะเดินหน้าปักหมุดสร้าง “หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุแห่งชาติ”  และ ติดตั้ง “กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติ” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เมตร ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกหนึ่งโครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ของไทย  ที่ขยายขีดความสามารถงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ในช่วงคลื่นวิทยุ และ เชื่อมเครือข่ายร่วมกับกล้องโทรทรรศน์วิทยุนานาชาติ เพื่อการพัฒนางานวิจัยระดับโลก

สำหรับเรื่องที่สี่ก็คือการ เตรียมสร้าง “ดาวเทียมวิจัย” ของคนไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ผสานภาคี 3 สถาบัน ได้แก่สดร. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หวังใช้ดาราศาสตร์เป็นโจทย์สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ก้าวแรกในการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอวกาศและดาวเทียมของไทย   และห้าในช่วงกลางปี2562  สดร.พร้อมเปิด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา”  หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบ แห่งที่ 3 ของไทย  เพื่อบริการวิชาการดาราศาสตร์ สนับสนุนงานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาในภาคใต้ และเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมอย่างครบวงจร

ดร.ศรัณย์   กล่าวว่า เรื่องที่หก คือ ปรากฎการณ์ด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญคือจะเกิดจันทรุปราคาบางส่วนและสุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย   โดย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน  จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 กรกฎาคม 2562  สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 01:44 - 06:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย)  ส่วนปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน  จะเกิดในวันที่  26 ธันวาคม 2562   สังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย ตั้งแต่เวลาประมาณ 10:18 - 13:57 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81      

สำหรับเรื่องเด่นทางดาราศาสตร์เรื่องที่เจ็ดคือ  ปรากฎการณ์ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ ซูเปอร์  ฟูลมูน (Super Full Moon) ในวันที่  19 กุมภาพันธ์  2562 และ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ไมโครฟูลมูน (Micro Full Moon)  ในวันที่  14 กันยายน 2562
 
ส่วนเรื่องที่แปดคือ ดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ใกล้โลก  ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ในวันที่  10 มิถุนายน 2562 และดาวเสาร์ใกล้โลก     9 กรกฎาคม  2562   ซึ่งโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ได้ยาวนานตลอดคืนตั้งแต่อาทิตย์ตกลับขอบฟ้าจนถึงรุ่งเช้า   และเก้าคือปรากฎการณ์ ฝนดาวตก ที่มีให้ชมตลอดทั้งปี แต่ที่น่าจับตาได้แก่ ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ในวันที่  3-4 มกราคม (เฉลี่ย 120 ดวงต่อชั่วโมง) ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์  6-7 พฤษภาคม (เฉลี่ย 50 ดวงต่อชั่วโมง) และ ฝนดาวตกเดลต้า -  อควอริดส์  30-31 กรกฎาคม (เฉลี่ย 25 ดวงต่อชั่วโมง)        

และเรื่องสุดท้ายคือการชวนชาวไทยจับตาข้ามปี “ดาวเสาร์เคียงดาวพฤหัสบดี” (The Great Conjunction 2020)     ซึ่งดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีเริ่มขยับเข้าใกล้ตั้งแต่ปลายปี 2561  ก่อนที่จะเข้าใกล้กันที่สุด ในวันที่ 21 ธันวาคม 2563  โดยห่างเพียง 0.1 องศา มองด้วยตาจะเห็นเป็นดาวดวงเดียวกัน ซึ่งนับเป็นการเข้าใกล้กันมากที่สุดในรอบ 397 ปี

ดร. ศรัณย์ กล่าวอีกว่า นอกจาก 10 เรื่องดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม ปี 2562 ยังเป็นปีแห่งวาระพิเศษที่ สดร. ดำเนินงานครบรอบ 10 ปี การดำเนินงานที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ดาราศาสตร์ พัฒนาบุคลากร สร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางดาราศาสตร์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับเครือข่ายดาราศาสตร์ระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยี พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ดาราศาสตร์ สร้างแรงบันดาลใจใฝ่รู้วิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชน นับเป็นการเสริมความเข้มแข็งด้านองค์ความรู้ใน  ทุกระดับ  และสถาบันฯ จะยังคงเดินหน้าใช้เทคโนโลยีดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างคนเก่งมาช่วยขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไป

วันที่: 
Thu 20 December 2018
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/10-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2562
แหล่งที่มา: 
https://www.dailynews.co.th/it/683409