"ขยะ" ระเบิดเวลาสิ่งแวดล้อม

“ภัยร้ายที่ย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในไม่ช้า” และ “แค่ทิ้งขยะคนละชิ้น มหาสมุทรก็สิ้นแล้ว” เป็นคำนิยามที่หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร คุณอรยุพา สังขะมาน ได้ให้ไว้เมื่อเอ่ยถึงสถานการณ์ขยะในแผนพับสถานการณ์ป่าไม้ไทย ประจำปี พ.ศ. 2559-2560

เพราะปัญหาขยะที่ค่อยๆ พอกพูนขึ้น กำลังส่งผลกระทบต่อสรรพชีวิตทั้งหมด เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และควรให้ความสนใจ สร้างความเข้าใจ ต่อขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของเราทุกคน ดังเช่นที่ปรากฎปัญหาการสะสมของขยะพลาสติกในท้องทะเล สิ่งนี้เปรียบเสมือนการนับถอยหลังระเบิดเวลาที่ผลกระทบต่างๆ จะย้อนกลับมาสู่มนุษย์ในที่สุด

องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ได้จัดอันดับชนิดของขยะที่พบปริมาณมากที่สุดในรอบ 25 ปี และตีพิมพ์ในรายงาน Talking Trash: 25 years of actions for ocean ซึ่งทั้ง 10 อันดับแรกนี้มีขยะจำนวนทั้งสิ้น 132,077,087 ชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 80 จากขยะทั่วโลกที่มีจำนวน 166,144,420 ชิ้น) อันประกอบไปด้วย

1. ก้นบุหรี่ 52.90 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 32)
2. ห่อ/ซอง พลาสติก 14.76 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 9)
3. ฝาขวดพลาสติก 13.58 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 8)
4. ภาชนะบรรจุอาหาร 10.11 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 6)
5. ขวดพลาสติก 9.54 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 6)
6. ถุงพลาสติก 7.82 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 5)
7. ขวดแก้ว 7.06 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
8. กระป๋องเครื่องดื่ม 6.75 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
9. หลอด 6.26 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 4)
10. เชือก 3.25 ล้านชิ้น (คิดเป็นร้อยละ 2)

และเป็นที่น่าสนใจว่าประเทศผู้ปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก (จัดอันดับโดยองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเลร่วมกับ McKinsey Center of business and Environment) ระบุว่า ขยะร้อยละ 60 มีแหล่งที่มาจากทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทยของเรา ซึ่งขยับจากอันดับที่ 6 มาเป็นอันดับที่ 5 แทนประเทศศรีลังกาในการจัดอันดับก่อนหน้า

มีการประมาณการว่าภายในปี 2568 มหาสมุทรจะมีปริมาณขยะพลาสติก 1 ตันต่อปริมาณปลาทะเล 3 ตันซึ่งพลาสติกที่ปรากฏอยู่ในมหาสมุทรนั้นมีตั้งแต่พลาสติกขนาดจิ๋วและขยะทั่วไปดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นโดยขยะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศตลอดจนห่วงโซ่อาหารทั้งมหาสมุทรทั่วโลกอย่างมหาศาล

ฐานข้อมูลขยะทะเลจากกรมทรัพยากรทางทะเล ในปี 2558 ได้เผยแพร่ข้อมูลซึ่งอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี 2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี หรือคิดเฉลี่ยเป็นคนหนึ่งคนจะผลิตขยะในปริมาณ 1.13 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งชนิดของขยะที่พบได้ตามลำดับดังต่อไปนี้

(1) ถุงพลาสติก ร้อยละ 13 (2) หลอด ร้อยละ 10 (3) ฝาพลาสติก ร้อยละ 8 (4) ภาชนะบรรจุอาหาร ร้อยละ 8 (5) เชือก ร้อยละ 6 (6) ก้นบุหรี่ ร้อยละ 5 (7) กระป๋อง ร้อยละ 5 (8) กระดาษ ร้อยละ 5 (9) โฟม ร้อยละ 5 (10) ขวดแก้ว ร้อยละ 5

จากการสำรวจประเมินโดยทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่าประมาณร้อยละ 10 ของขยะที่ตกค้างเนื่องจากจัดการไม่ถูกวิธีจะไหลลงทะเล ซึ่งนั่นหมายถึงมีขยะไหลลงทะเลปีละประมาณ 50,000-60,000 ตันต่อปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีจะมีปริมาณขยะพลาสติกในทะเลประมาณ 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น

และในปีต่อมา (2559) คนไทยผลิตขยะเพิ่มขึ้นรวมเป็น 27.06 ล้านตัน หรือคิดเฉลี่ยเป็นคนหนึ่งคนจะผลิตขยะในปริมาณ 1.14 กิโลกรัมต่อวัน โดยกรมควบคุมมลพิษปีเดียวกันนี้ให้ข้อมูลแบ่งประเภทขยะภายในประเทศไทยเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ขยะภายในประเทศไทยได้ถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 16
2. ขยะที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 26
3. ขยะสะสมขาดการจัดเก็บ คิดเป็นร้อยละ 27
4. ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 31

ซึ่งในส่วนของขยะข้อ 3 และ 4 นั้น จะเป็นส่วนหนึ่งของขยะที่ถูกพัดหรือชะลงแหล่งน้ำและทะเล โดยคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้จะมีขยะที่ถูกปล่อยลงทะเลในปริมาณ 2.83 ล้านตัน
ในขณะที่ขยะเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้สัตว์ทะเลหายากตายจากการกินขยะและเศษเครื่องมือทำประมงเฉลี่ย 300 ตัวต่อปี

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ขณะที่ดำรงตำแหน่งผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล (ทช.) ได้แบ่งสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากว่า โลมาและวาฬกินขยะร้อยละ 60 ส่วนเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและลำตัวสูงถึงร้อยละ 70

ขณะเดียวกันภัยร้ายที่คืบคลานมาอย่างเงียบเชียบแต่สร้างผลกระทบและไปสะสมในระบบนิเวศทางทะเล นั่นคือ “พลาสติกขนาดจิ๋ว”

“พลาสติกขนาดจิ๋ว” หรือ “ไมโครพลาสติก” คือพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตรถึง 5 มิลลิเมตร (ขนาดไม่เกินเมล็ดข้าว) เกิดจากขยะพลาสติกในแหล่งน้ำสลายตัวจากผลกระทบของคลื่นและแสงอาทิตย์กลายเป็นเศษพลาสติก กระทั่งลดขนาดลงเรื่อยๆ เป็นพลาสติกขนาดจิ๋วที่เราเรียกกันว่า “ไมโครพลาสติก”

วันที่: 
Fri 24 May 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B0-%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1
แหล่งที่มา: 
https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/ขยะ-ระเบิดเวลาสิ่งแวดล/
Hits 1,567 ครั้ง