ทำไมคนเราถึงฝัน?

“ความฝันคืออะไร?”

          ความฝัน คือ การสะสมของมโนภาพ ความประทับใจ เหตุการณ์ต่างๆ และอารมณ์ที่เรารู้สึกขณะหลับ บางครั้งความฝันก็มีพื้นฐานมาจากเรื่องราวในชีวิตจริง แต่หลายครั้งความฝันก็ออกมาในรูปแบบนามธรรมที่เต็มไปด้วยอารมณ์และภาพในจินตนาการ

 

“ทำไมคนเราถึงฝัน?”

          แม้ร่างกายเราจะกำลังนอนหลับพักผ่อน แต่สมองไม่ได้ปิดตัวเองไปด้วย มันยังคงทำหน้าที่ดูแลระบบสารเคมีต่างๆ เซลล์ประสาทยังคงทำงานแม้เราจะหลับไปแล้วก็ตาม ดังนั้นในความเป็นจริงแล้วจะกล่าวว่าขณะที่เราหลับ เรามีการฝันตลอดเวลาก็ว่าได้ เพราะสมองยังคงมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะจำได้หรือจำไม่ได้เท่านั้นเอง

          การนอนหลับมีอยู่ 2 ระยะคือ Rapid Eye Movement (REM) กับ Slow-wave (SW) หรือ Non-rapid Eye Movement (non-REM) ซึ่งเกิดขึ้นสลับกันไปมา 5-6 รอบในแต่ละคืน โดยเฉลี่ยรอบละ 90 นาที

          การฝันมักเกิดขึ้นในการหลับระยะ REM เป็นหลักและจะชัดเจนมากเพราะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยว ข้องในระยะนี้ ในช่วงนี้สมองในส่วน Prefrontal Cortex เกือบจะหยุดการทำงานทั้งหมด ดังนั้น ความฝันของเราจึงมักจะแปลกประหลาด และมักจะไม่เป็นเหตุเป็นผล

          การนอนหลับแบบ REM ที่เกิดในช่วงแรกๆ จะสั้นประมาณ 10 นาที และความฝันของเรามักจะเกี่ยวข้องกับอารมณ์ในตอนนั้น แต่ REM ในครั้งหลังๆ จะเกิดนานถึงชั่วโมง และความฝันที่เกิดขึ้นมักจะเกี่ยวข้องกับความทรงจำระยะยาว

          การนอนหลับแบบ SW เป็นช่วงที่เราหลับลึก คลื่นสมองช้าลงและสูงขึ้น สมองทำงานสอดคล้องเป็นอย่างดี และยากที่จะปลุกให้ตื่น การนอนในช่วง SW เป็นเวลาที่เราหลับและร่างกายได้ฟื้นฟู และเป็นช่วงที่ร่างกายเราเผาผลาญไขมัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่นอนหลับไม่เพียงพอจะทำให้อ้วนได้ ในช่วงการหลับแบบ SW เราจะฝันแบบไม่ปะติดปะต่อและไม่ค่อยมีความหมาย

          การนอนหลับช่วง SW ช่วยให้เราเก็บบันทึกความทรงจำ โดยการทบทวนข้อมูลที่เราเรียนรู้ในแต่ละวัน ในขณะที่การนอนในช่วง REM จะประมวลผลความจำเหล่านั้นรวมเข้ากับข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้ว

 

“สาเหตุที่ทำให้เราฝัน ?”

          สำหรับนักจิตวิทยาสมัยใหม่ ที่ศึกษาขบวนการการเกิดความฝันของคน มองว่าความฝันนั้น เป็นหนึ่งในกลไกทางจิต เพื่อปลดปล่อยความกลัดกลุ่ม และความตึงเครียดภายในจิตใจ ดังนั้นเมื่อเกิดการฝันขึ้น จะทำให้สภาพจิตใจรู้สึกผ่อนคลายลง โดยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราฝัน ได้แก่

          1. ฝันที่มาจากความเจ็บปวด - เมื่อสภาพจิตใจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ภาวะจิตใจในขณะนั้นกระตุ้นให้เกิดความฝันที่ยังหมกมุ่นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

          2. ฝันจากเรื่องค้างคาใจการใช้ชีวิตประจำวัน - หากการกระทำบางอย่างยังไม่บรรลุผลหรือประสบความสำเร็จ จึงทำให้เกิดความคิดที่ยังคงติดอยู่กับเหตุการณ์เหล่านั้น ฝันลักษรนะนี้ช่วยแก้ปัญหาที่คาใจได้

          3. ฝันอันเนื่องมาจากประสบการณ์ในอดีตที่อาจจะลืมไปแล้ว - แต่เมื่อพบเจอเหตุการณ์ที่มีความเกี่ยวข้องกัน ก็สามารถกระตุ้นให้เรานำกลับมาเป็นความฝันลักษณะนี้ได้ เช่นกัน

 

          Prefrontal Cortex - สมองกลีบหน้าผากส่วนมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพฤติกรรม การรับรู้ที่ซับซ้อน บุคลิกและการตัดสินใจ

          REM (Rapid Eye Movement) - การนอนที่ตาเคลื่อนที่ไปมาในระหว่างที่เราหลับ

          SW (Slow-wave) – การนอนที่ตาwไม่เคลื่อนที่ช่วยบันทึกความทรงจำในแต่ละวัน

วันที่: 
Tue 6 August 2019
QR Code for https://www.stkc.go.th/info/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%9D%E0%B8%B1%E0%B8%99
แหล่งที่มา: 
http://scienceillustratedthailand.com/medicine , https://www.nicetofit.com , https://www.scimath.org/article-science/item/6655-dream
Hits 1,231 ครั้ง