จิสด้านำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศและระบบตรวจสอบย้อนกลับ ไปยังแปลงเพาะปลูกและแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาจัดแสดงในงานข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 19 ณ จังหวัดร้อยเอ็ด

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 7 December 2018

ในระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น จิสด้าได้นำนวัตกรรมภูมิสารสนเทศและระบบตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงเพาะปลูกและแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์ มาจัดแสดงในงานข้าวหอมมะลิโลก ครั้งที่ 19 ประจำปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด สภาอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว จัดขึ้นเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายด้านการผลิตและตลาด การพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าวครบวงจร สร้างเครือข่ายการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์และจังหวัดในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และเชื่อมโยงตลาดช่องทางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการจัดการข้าวโดยชุมชน ที่ สทอภ. : GISTDA พัฒนาขึ้นมานี้ จะช่วยสร้างคุณค่า (Values) ให้เกิดขึ้นกับข้าวหอมมะลิและ เกษตรกร ชุมชน วิสาหกิจชุม สหกรณ์การเกษตร และหน่วยงาน ต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ได้นำไปใช้ ในการจัดการ วางแผนและตัดสินใจในการเพาะปลูก รวมทั้ง ใช้ในการติดตามและรายงานผลผลิตข้าว ตลอดจนเป็น เครื่องมือให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ได้นำไปใช้ในการ กำหนดนโยบาย วางแผน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวหอมมะลิให้เกิดคุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร ชุมชน และท้องถิ่น ส่งผลให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวหอมมะลิในพื้นที่ทุ่งกุลาฯ มี รายได้เพิ่มขึ้น มีความอยู่ดีกินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผลิตภัณฑ์ข้าวและผลิตภัณฑ์เพิ่มค่าจากข้าวหอมมะลิ ผู้บริโภคสามารถ ใช้นวัตกรรมนี้ตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงเพาะปลูก และแหล่งผลิต ทำให้ทราบขั้นตอนและกิจกรรมที่เกิดขึ้น ในแปลงเพาะปลูก ตรวจสอบมาตรฐานการเพาะปลูกและ การผลิตที่ได้รับจาก QR Code ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพและช่วยเพิ่มมูลค่าของข้าวหอมมะลิให้มีราคาสูงขึ้น สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเกษตรกร ชุมชนและท้องถิ่นจากการนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาข้าวหอมมะลิทุ่งกุลา ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมตลอดห่วงโซ่คุณค่าให้เกิดความยั่งยืนนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ผู้แทนหอการค้าแห่งประเทศไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด Gistda และหัวหน้าส่วนราชทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารือเป็นการเร่งด่วน โดยมอบให้ วทตั้งคณะทำงานในภาพรวมทั้ง 5 จังหวัดขึ้น โดยให้มีภาคการตลาดเข้ามาร่วมอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า Value Chain ด้วย

นอกจากนี้ Gistda ยังเป็นวิทยากรในการ “เสวนาวิชาการสานพลังเครือข่าย ศพก.แปลงใหญ่ และ Young Smart Farmer กลไกการพัฒนาภาคการเกษตรยุค 4.0” เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักให้กับเกษตรกร เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการนำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของจังหวัดร้อยเอ็ดและทุ่งกุลาฯ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Tags: ข้าวหอมมะลิ เกษตรอินทรีย์ จังหวัดร้อยเอ็ด

URL: 
https://www.gistda.or.th/main/th/node/2861