มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน" ครั้งที่ 5 ยกระดับมหาลัยตอบโจทย์นโยบาย อว.

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 7 October 2019

4 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมดวงชนก โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต/ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 5 และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การบริหารมหาวิทยาลัยภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” นอกจากนี้ภายในวันดังกล่าว ดร.สุวิทย์ ได้เข้าร่วมหารือและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมให้แนวทางนโยบาย ร่วมกับผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวรและมหาวิทยาลัยบูรพา เกี่ยวกับโครงการภายใต้ประเด็น BCG การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy)"

โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณี มข.-ม.อ.-มช. “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” ครั้งที่ 5 จัดขึ้นเพื่อการพัฒนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สนับสนุนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาตามพันธกิจและยุทธศาสตร์ของทั้งสามมหาวิทยาลัย สามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์เพื่อการพัฒนาตามบริบทได้อย่างเหมาะสม และพร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยทั้ง 3 มหาวิทยาลัยมีบทบาทหลักในการเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านต่าง ๆ มีผลการปฏิบัติงานและผลผลิตที่มีคุณภาพ มีการบูรณาการเครื่องมือบริหารจัดการแนวใหม่ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ กล่าวว่า ภารกิจหลักของ อว. ประกอบไปด้วย 3 อย่าง คือ 1.เพื่อเตรียมคนไทยสู่ ศตวรรษที่ 21 2.สร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ในทิศทาง ที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 3. สร้างนวัตกรรม ในประเด็นเกี่ยวกับการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ขณะนี้มหาลัยจำเป็นที่จะต้องเป็น life long education เพื่อผลักดันการสร้าง life long wellness โดยมหาวิทยาลัยควรคิดหลักสูตรใหม่ เพื่อ 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มบัณทิตนักศึกษา มุ่งเน้นการผลิตบัณทิตนักศึกษาให้มีคุณภาพโดยมีประชากรประมาณ 2.5 ล้านคนและแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ, 2.กลุ่มที่จบการศึกษาแล้ว มีจำนวนประมาณ 38 ล้านคน โดยมีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานและตกงานอยู่สูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สำคัญเป็นกลุ่มที่ควรเข้าไปรับมือ ช่วยเรื่องอาชีพการงาน, 3.กลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประเทศ ควรดูแลเรื่องความรู้ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ซึ่งมีจำนวน 12.3 ล้านคน และมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ

ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า การสร้างองค์ความรู้ ควรคำนึงว่าทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทำอย่างไรให้มีระบบที่ดีสำหรับการวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ โดยมีแนวคิดการพัฒนางานวิจัย ในอนาคต 2 ข้อ คือ งานวิจัยสามารถจับต้องได้และงานวิจัยสามารถตอบโจทย์ประเทศๆได้ ซึ่งมีทิศทางการวิจัยมี 2 ทิศทางด้วยกัน คือ 1.research for innovation และ 2.research for the future ผ่าน frontier research

1.frontier research เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของคนไทย และเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน รวมทั้งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยุคที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในทุกมิติทางเศรษฐกิจและสังคม

2.Research for innovation มีรูปธรรมที่สำคัญ คือ bcg model ซึ่งนำเอาความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ผสมกับความรู้เทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทางที่ดี และพัฒนาประเทศในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งแต่ละภูมิภาคมีความโดดเด่นของตัวเอง เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้าง startup กลุ่มต่างๆ รวมถึงการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มของประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่สามารถทำได้เลยหากขาดมหาวิทยาลัย

แนวทางที่ อว.และทั้ง 3 มหาวิทยาลัยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในการขับเคลื่อนประเทศผ่านมหาวิทยาลัยในสองมิติสำคัญ คือ Research For The Future และ Research for innovation ผ่าน BCG ในกรณีของ Research for innovation ส่วนนี้จะเป็น startup รุ่นใหม่ ที่จะเป็นกองทัพใหม่ทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องใช้พลังของมหาวิทยาลัย ทางอว. จึงได้ตั้งกองทุนยุวสตาร์ทอัพ ที่ทำให้นักศึกษาบัณฑิตในมหาวิทยาลัยนั้นสามารถทำความฝันของตัวเองออกมาให้เป็นมูลค่าทางธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสได้ในอนาคต

เขียนข่าว : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพนิ่ง : นายปวีณ ควรแย้ม
ถ่ายภาพวิดีโอ : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ส่วนสื่อสารองค์กร

URL: 
https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/520-041062