สวทช. นำชุดสื่อการสอนประถมปลาย“สารเรืองแสง” และ “กลนักวิทย์น้อยในห้องครัว” ถ่ายทอดแก่ครูวิทย์และคณิต

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 30 April 2018

สวทช. นำชุดสื่อการสอนประถมปลาย“สารเรืองแสง” และ “กลนักวิทย์น้อยในห้องครัว” ถ่ายทอดแก่ครูวิทย์และคณิต


          สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ (AYS) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดกิจกรรม “การอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สสวท.” ระหว่างวันที่ 27 - 30 เมษายน 2561 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี



          แก่คณะครูผู้สอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ จากศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สสวท. ทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค กว่า 120 คน เพื่ออบรมทักษะกระบวนการที่จะสามารถนำไปพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีให้แก่นักเรียน โดย สวทช. ได้นำชุดกิจกรรมเจาะลึกเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์ (Science behind Technology) ตอน “สนุกกับสารเรืองแสง” และ “กลนักวิทยาศาสตร์น้อยในห้องครัว” ถ่ายทอดให้กับคณะครูในค่ายครั้งนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้ผ่านการทดลองแล้วว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและมีความเหมาะสมสำหรับผู้เรียนในระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ประถมศึกษาปีที่ 4 - 6)


  


          กิจกรรมเจาะลึกเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์ หรือ Science behind Technology ชุด “สนุกกับสารเรืองแสง” ชี้แจงภาพรวมกิจกรรมโดยคุณกรกนก จงสูงเนิน นักวิชาการ สวทช. ประกอบด้วย 4 ฐานกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสกัดสารคลอโรฟิลล์จากใบไม้ กิจกรรมสร้างอุปกรณ์ทดสอบสารคลอโรฟิลล์เรืองแสง กิจกรรมนักสำรวจสารเรืองแสง และกิจกรรมการนำสารเรืองแสงไปใช้ประโยชน์ ขณะที่กิจกรรมชุด “กลนักวิทยาศาสตร์น้อยในห้องครัว” ชี้แจงภาพรวมกิจกรรมโดยคุณสุปราณี สิทธิไพโรจน์สกุล นักวิชาการอาวุโส สวทช. ประกอบด้วย 5 ฐานกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมสกัดดีเอ็นเอจากมะเขือเทศ กิจกรรมเสียงดนตรีจากผลไม้ กิจกรรมยีสต์เป่าลูกโป่ง กิจกรรมช็อกโกแลตสลายพลังเหนียวของหมากฝรั่ง และกิจกรรมแป้งข้าวโพดจอมพลัง


  


          คุณกรกนก จงสูงเนิน นักวิชาการ สวทช. บรรยายถึงจุดสนใจหลักของกิจกรรมชุดของ สวทช. ว่า เป็นกิจกรรมที่ผู้สอนสามารถนำไปใช้สอนเสริมจากเนื้อหาหลักรายวิชาหรือใช้จุดประกายในการทำโครงงานได้ โดย สามารถใช้เป็นหลักของการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ปัญหาเป็นตัวกระตุ้นเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนจะได้เห็นถึงการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในงานอาชีพ รวมถึงผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหาโดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ และรู้จักการทำงานเป็นกลุ่ม ตลอดจนได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงที่ผู้สอนนำเข้าสู่บทเรียน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดและดำเนินการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเองเพื่อให้เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่อยู่รอบตัวเราได้ดียิ่งขึ้น โดยมีผู้สอนคอยชี้แนะและช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้นต่อไป


URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11946-20180428-1
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)