โครงการตามแนวพระราชดำริ : เห็ดในพื้นที่ป่าธรรมชาติ

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 29 April 2019

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริและแนวทางการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาทั้งในกรณีเฉพาะหน้าและระยะยาวให้เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังสามารถเห็นได้จากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้เกิดขึ้นจำนวน 4,447 โครงการ

เห็ด เป็น สิ่งมีชีวิตในกลุ่มจุลินทรีย์ ประเภท รา ที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าราชนิดอื่นๆ จัดอยู่ในราหมวด Basidiomycotina และ Ascomycotina มีการเจริญเติบโตเป็นเส้นใย และสามารถพัฒนาเป็นดอกหรือกลุ่มก้อน โดยสร้างสปอร์ในส่วนของครีบดอกเพื่อใช้ในการขยายพันธุ์ สำหรับนักจุลชีววิทยา ถือว่า เห็ด เป็น ราชั้นสูง ในขณะที่นักเกษตร มักถือว่า เห็ด เป็นพืชชั้นต่ำ ที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ เพราะไม่มี คลอโรฟิล หรือ สารสีเขียวที่ช่วยในการสังเคราะห์แสง
เห็ด ส่วนใหญ่มักพบมากในพื้นที่ป่าธรรมชาติในช่วงฤดูฝน พบเจริญอยู่ตามพื้นดิน ทุ่งหญ้า ต้นไม้ ขอนไม้ ซากไม้ผุพัง ตามอินทรียวัตถุ เช่น กองปุ๋ยหมัก ซากพืช มูลสัตว์ เป็นต้น โดยพื้นที่ป่าแต่ละประเภทก็จะพบชนิดของเห็ดที่แตกต่างกัน หรือในแต่ละฤดูกาลก็จะพบชนิดของเห็ดที่แตกต่างกัน ปัจจัยของสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อการเจริญและความสมบูรณ์ของดอกเห็ดมาก โดยความชื้นที่เพียงพอประกอบกับสภาพอากาศที่อบอ้าวและมีแสงแดดจัด หลังจากที่มีฝนตกปริมาณมากจะเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เห็ดงอก นอกจากสภาพอากาศแล้วสภาพพื้นดินที่มีเศษซากพืชทับถมก่อให้มีธาตุอาหารสมบูรณ์ จะส่งผลให้ดอกเห็ดเจริญสมบูรณ์ได้ดี ในระบบนิเวศ ถือว่า เห็ด เป็นผู้ย่อยอินทรีย์สาร

ปัจจุบันมีการแบ่ง เห็ด ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เห็ดกินได้ (edible mushroom) และ เห็ดพิษ (poisonous mushroom or toadstool)
เห็ดกินได้ มีหลายชนิด เช่น เห็ดฟาง เห็ดหอม มีรสและกลิ่นหอม เห็ดเสม็ด มีรสขม เห็ดขิง เห็ดข่า มีรสเผ็ดซ่า อย่างไรก็ดี เห็ดกินได้ มักมีสารอาหารโปรตีนสูง อุดมด้วยวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญหลายชนิด จึงเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก และเป็นแหล่งโปรตีนที่มีราคาถูกกว่าอาหารชนิดอื่นๆ บางชนิดนอกจากนำมาใช้ในการประกอบและปรุงอาหารแล้ว ยังสามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพร เพื่อบำบัดโรค และเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น การลดไขมันในเลือด การต่อต้านมะเร็ง การต่อต้านไวรัส การต่อต้านจุลินทรีย์ รา และพยาธิ และการลดความดันโลหิตเป็นต้น ดังนั้น เห็ดป่าบางชนิดที่มีราคาแพง เช่น เห็ดโคน เห็ดเผาะ จึงเป็นทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้มีการนำเข้าสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวจากต่างประเทศ เช่น เห็ดชิเมจิ เห็ดนางรมหลวง เห็ดนาเมโกะ เห็ดซึงิตาเกะ เห็ดนางรมดอย เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมทอง เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหูหนูเผือก และเห็ดไมตาเกะ มาศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่เขตหนาวของประเทศไทยหันมาทำการเพาะเลี้ยงเห็ดในป่าธรรมชาติ เพื่อปลูกป่าสำหรับใช้สอยและสร้างรายได้ แทนการทำลายป่าธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ยังนำ เห็ดน้ำแป้ง ซึ่งเป็นเห็ดพื้นเมืองในภาคอีสานของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Russula alborealata Hongo และมีสารสำคัญ คือ 4,5-dicaffeoylquinic acid ซึ่งมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยาที่สามารถช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และ ลดภาวะเสี่ยงโรคมะเร็ง มาวิจัยและพัฒนาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากเห็ดน้ำแป้งขึ้น ในชื่อว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล รัสซูล่า
ในส่วนของเห็ดพิษนั้น มีอยู่หลายชนิด ชนิดที่ร้ายแรงถึงตาย ได้แก่ เห็ดระโงกหิน ทั้งนี้เห็ดพิษที่พบในธรรมชาติจะมีความคล้ายกับเห็ดที่กินได้ บางชนิดจึงเป็นอันตรายต่อการบริโภค ด้วยเหตุนี้ วว. จึงได้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมเห็ดจากพื้นที่ป่าในธรรมชาติ จำนวน 40 ตัวอย่าง มาจัดทำเป็นบัญชีรายการ แสดงภาพ ชื่อท้องถิ่น ชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อวงศ์ ลักษณะ การเพาะเลี้ยง ฤดูกาลที่พบ การใช้ประโยชน์ วิธีเก็บรักษา และความเป็นพิษ โดยสามารถจำแนกชนิดได้ 23 ตัวอย่าง และไม่สามารถจำแนกได้ 17 ตัวอย่าง เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนได้ศึกษาประกอบการนำไปบริโภค เพาะเลี้ยง และใช้สอยสร้างรายได้ ทั้งนี้สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสาร เห็ดในพื้นที่ป่าธรรมชาติ

ข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

URL: 
http://www.most.go.th/main/th/component/flexicontent/165-practical-rad/8103-2019-04-26-07-37-12