กรอบรูปวิทยาศาสตร์ ศาสตร์ความทรงจำที่กำลังจะเลือนหาย

วันที่เผยแพร่: 
Mon 9 July 2018

เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านคงมีภาพถ่ายตั้งหรือติดอยู่มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน  ตั้งแต่อดีตมาเรามักนิยมนำรูปถ่ายที่เราต้องการตั้งโชว์หรือติดโชว์ตามฝาผนังบ้าน ใส่กรอบรูปชนิดหนึ่งที่เรียกว่า กรอบรูปวิทยาศาสตร์  วันนี้คงไม่ได้มานำเสนอขั้นตอนการทำแต่อย่างใด แต่อยากนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการการเปลี่ยนแปลงตามยุคตามสมัยของกรอบรูปวิทยาศาสตร์ และแนะนำให้รู้จักวัตถุดิบทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับกรอบรูปชนิดนี้

7814 1

ภาพ การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์
ที่มา  http://pcu05438.blogspot.com/2011/12/blog-post_09.html

         สมัยก่อนแทบทุกบ้านต่างนิยมนำกรอบรูปมาตั้งโชว์ พูดได้ว่าสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้แก่บรรดาห้างร้านต่าง ๆ ที่ทำกรอบรูปเป็นอย่างมากเลยทีเดียว กรอบรูปวิทยาศาสตร์มีลักษณะที่เรียบง่ายมีความสวยงามเฉพาะตัวตามรูปแบบหรือลายที่เจ้าของรูปต้องการเลือกใส่ และด้วยราคาที่เหมาะสมไม่แพงจนเกินไปที่จะทำให้ทุกบ้านมีกรอบรูปวิทยาศาสตร์นี้ประดับอยู่ที่บ้าน

        วันเวลาผ่านไป กระแสความนิยมของกรอบรูปวิทยาศาสตร์ก็ค่อย ๆ ลดลงเลือนหายเข้าไปทุกที  อันเนื่องมาจากที่เทคโนโลยีหรือรูปลักษณ์ใหม่ ๆ ของกรอบรูปที่ถูกพัฒนาให้สวยงามคงทนมากยิ่งขึ้น ทั้งกรอบลอย กรอบลายไม้ กรอบพลาสติก กรอบผ้า กรอบหลุยส์ที่นิยมกันมาอย่างต่อเนื่อง

        มีการกล่าวถึงว่า ประเทศไทยมีการนำรูปภาพมาใส่กรอบแล้วเคลือบรูปเพื่อให้สวยงามและคงทน ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ เมื่อประมาณปี 2509 โดยกระบวนการของการปกป้องรักษาภาพถ่ายอยู่ที่น้ำยาเคลือบ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้

         เรซื่น (Resin) วัสดุทางเคมีตัวสำคัญในการปกป้องรูปภาพให้คงสภาพเดิม เรซิ่นที่ใช้เป็นโพลิเอสเทอร์เรซิ่นชนิดไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นเรซิ่นสำหรับงานเคลือบโดยเฉพาะ ที่มีคุณสมบัติ เงา ดูแลปกป้องสีรูปภาพให้คงสีสภาพเดิม ไม่เหลืองง่าย

         ฮาดเดนเนอร์  (ตัวเร่ง)  เป็นตัวทำให้แข็งหรือตัวเร่งปฏิกิริยา ชื่อทางเคมี  Methyl ethyl ketone peroxide (MEKP) โดยผสมลงในเรซิ่นประมาณ 1 % มีหน้าที่ทำปฏิกริยากับเรซิ่นทำให้เรซิ่นแข็งตัว จนกลายเป็นเหมือนพลาสติกเหลวมีหลายสี เช่น แดง ม่วง ใส แต่มีกลิ่นฉุน

          อะซิโตน (Acetone) ที่มีลักษณะเป็นของเหลวใส ไม่มีสี กลิ่นฉุน ติดไฟง่าย ใช้ล้างเรซิ่นอีกที

          ฟิล์มไมล่า หรือ แผ่นโพลีเอสเตอร์ฟิล์มชนิดบาง วางทาบบนเรซิ่นเพื่อให้ผิวหน้าเรียบเท่า ๆ กัน ควรมีขนาดใหญ่กว่ากรอบภาพ

          ปัจจุบันอาชีพการทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ก็ยังมีอยู่ในท้องตลาดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ทั้งที่จริงแล้วก็หวังว่าสิ่งนี้ซึ่งเป็นศาสตร์ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะศาสตร์ที่มีเสน่ห์คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน ก็หวังว่ามันจะไม่เลือนหายไปในที่สุด และหวังว่าจะมีผู้พลิกศาสตร์แห่งความทรงจำนี้มาประยุคให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างกลมกลืน อันจะเป็นหนทางสร้างวิชาชีพอีกวิชาชีพหนึ่งที่ดีต่อไปได้อีกในอนาคต

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2
เจ้าของข้อมูล: 
http://www.scimath.org/article-science/item/7814-2017-12-19-02-22-21
Hits 741 ครั้ง