การศึกษาชี้ เทคโนโลยีวีอาร์ ช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อมได้

วันที่เผยแพร่: 
Wed 18 September 2019

เวย์น การ์เซีย วัย 57 ปีสวมอุปกรณ์แว่นตาวีอาร์ และเริ่มปั่นจักรยานที่เชื่อมต่อกับโปรแกรมความจริงเสมือน หรือ VR ในห้องทดลองที่มหาวิทยาลัย University of Southern California หรือ USC วิทยาเขตนครลอสแองเจลีส สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันภาวะความจำเสื่อมด้วยเทคโนโลยีวีอาร์ ผสมผสานกับการออกกำลังกาย

นายการ์เซีย บอกว่า มันน่ากลัวที่วันหนึ่งเขาอาจจะเผชิญกับโรคความจำเสื่อมนี้ เพราะปู่ ย่า พ่อ และแม่ของเขามีภาวะความจำเสื่อม และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ต้องเห็นพ่อแม่ซึ่งเคยเป็นปกติดีเริ่มมีความทรงจำเลือนลางลงไปเรื่อยๆ

ด้านจูดี้ พา หนึ่งในทีมวิจัยจาก USC Keck School of Medicine บอกว่า ภาวะความจำเสื่อมจะค่อยๆมีอาการสะสมประมาณ 10-20 ปีก่อนจะแสดงอาการออกมาในลักษณะที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตัวเอง หรือทำกิจกรรมที่เคยทำได้ตัวเอง อย่างการจ่ายค่าสาธารณูปโภค ขับรถ ทำกับข้าว แต่งตัว ซึ่งนั่นก็ถือว่าสายเกินแก้ไปเสียแล้ว และปัจจุบันยังไม่มีหนทางรักษาภาวะดังกล่าว

ทีมวิจัยจาก USC ต้องการศึกษาผลจากการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ที่มีต่อสมองและการรับรู้ของผู้สูงวัย ซึ่ง จูดี้ พา อธิบายว่า เทคโนโลยีวีอาร์พิเศษว่าเกม 2 มิติทั่วไป ตรงที่ให้ประสบการณ์ 3 มิติที่จำเป็นต่อการฝึกฝนระบบการจดจำด้านระยะ ขนาด และตำแหน่งของวัตถุในสมอง

การทดลองวีอาร์ชะลอภาวะความจำเสื่อมของทีมวิจัยจาก USC เน้นการศึกษาและป้องกันความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ภาวะความจำเสื่อม และความผิดปกติทางการรับรู้ ด้วยการใช้อุปกรณ์วีอาร์ ที่สร้างสถานการณ์จำลอง ควบคู่กับการออกกำลังกายและฝึกการใช้สมองไปพร้อมกัน

นายการ์เซียอธิบายการทดสอบของเขาว่า เขาต้องปั่นจักรยานให้ได้ระดับอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 135 ครั้งต่อนาที พร้อมกันต้องทำกิจกรรมที่อยู่ในเกมวีอาร์ไปพร้อมๆกัน นั่นคือ การจดจำเส้นทาง การหยิบอาหารในเกมด้วยการแตะเบรค และนำอาหารไปป้อนให้สัตว์ต่างๆที่อยู่ในเกม

ทั้งนี้ ในการศึกษาการใช้เทคโนโลยีวีอาร์ในการป้องกันภาวะความจำเสื่อม ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น โดยมุ่งไปที่ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ เช่น การดำรงชีวิตแบบเฉื่อยชา และการขาดสิ่งเร้าทางสมองและทางสังคม ด้วยเป้าหมายที่จะชะลอความเสื่อมถอยด้านการรับรู้ ให้ผู้สูงวัยได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างมีเรื่องราวให้จดจำ

ที่มา. https://www.voathai.com/a/vr-aging-dementia-09122019/5081976.html

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
Hits 240 ครั้ง