ซีแลนเดีย (Zealandia) ทวีปใหม่ที่รอการประกาศ

วันที่เผยแพร่: 
Tue 16 October 2018

เด็กๆคงได้เรียนมาแล้วว่าโลกประกอบด้วยทวีป 7 ทวีป คือ เอเชีย ยุโรป แอฟริกา แอนตาร์กติกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย
ซึ่งทวีปเอเชียและยุโรปอยู่ติดกันบนผืนทวีปขนาดใหญ่หรือมหาทวีป ที่ชื่อว่า “ยูเรเชีย” (Eurasia) ทำให้บนโลกมีแผ่นทวีปหลักเพียง 6 ทวีปทั้งนั้น

ในปีค.ศ. 1995 Bruce Luyendyk นักธรณีฟิสิกส์จาก University of California ที่ Santa Barbara ได้กล่าวถึง “ซีแลนเดีย” (Zealandia) ซึ่งเป็นชื่อ
ที่ตั้งขึ้นเพื่อเรียกพื้นที่ส่วนหนึ่งของนิวซีแลนด์ รวมถึงนิวคาลีโดเนีย และส่วนที่จมอยู่ใต้น้ำซึ่งแยกจากมหาทวีปโบราณกอนด์วานา

ผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์อีก 10 ท่าน โดยนำแนวคิดของ Bruce Luyendyk มาต่อยอด และใช้เวลารวบรวมข้อมูลกว่า 2 ทศวรรษ แล้วนำ
มาวิเคราะห์ด้วยเกณฑ์การศึกษาชั้นหินทางธรณีวิทยาโดยพิจารณาเกณฑ์ดังนี้

1. ความสูงสัมพัทธ์ของแผ่นดินที่โผล่พ้นจากมหาสมุทร
2. ความหลากหลายของชั้นหิน 3 ประเภทคือ หินอัคนี หินแปร และหินตะกอน
3. ความหนาของชั้นหินและแผ่นเปลือกโลก เทียบกับพื้นมหาสมุทรโดยรอบ
4. ขนาดของพื้นที่ซึ่งใหญ่เกินกว่าจะเป็นอนุทวีป และชิ้นส่วนของทวีปโบราณ
จากการวิเคราะห์โดยใช้เกณฑ์พิจารณาข้างต้น ประกอบกับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทำให้ได้ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และแผนที่ความโน้มถ่วงของ
พื้นมหาสมุทรโบราณแสดงให้เห็นว่า ซีแลนเดียนั้นแยกตัวออกมาอย่างชัดเจน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ
4.9 ล้านตารางกิโลเมตร หรือ 2 ใน 3 ของทวีปออสเตรเลีย แต่มีขนาดใหญ่กว่าแผ่นทวีปอินเดีย มาดากัสการ์ นิวกีนี กรีนแลนด์ และเปลือกโลกอื่นๆ
ถึงแม้ว่า 94% ของพื้นที่ทั้งหมดจมอยู่ใต้มหาสมุทร มีเพียงพื้นดินส่วนเกาะเหนือ และเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ และนิวคาลีโดเนียเท่านั้นที่โผล่พ้นน้ำ
แต่ซีแลนเดียก็ตรงตามเงื่อนไขสำคัญที่กล่าวมา ทำให้นักธรณีวิทยาเห็นตรงกันว่าซีแลนเดียควรได้รับการพิจารณาให้เป็นทวีปใหม่ของโลก

ไม่เพียงประกาศให้ซีแลนเดียเป็นทวีปใหม่เท่านั้น แต่ความรู้ใหม่ทางธรณีวิทยาครั้งนี้ยังทำให้เห็นว่าแผ่นทวีปสามารถถูกกดให้จมลงใต้น้ำ และส่วนที่ยัง
ไม่แตกออกนั้นมีประโยชน์ในด้านการวิจัยทางธรณีวิยา กระตุ้นแนวคิดด้านพลศาสตร์ของโลกต่อการสำรวจการก่อตัวและล่มสลายของแผ่นทวีปและจาก
ข้อกำหนดของสหประชาชาติ ซึ่งระบุเกี่ยวกับขอบเขตของทวีปว่า ประเทศในอาณาเขตสามารถเสาะหาผลประโยชน์นอกชายฝั่งได้ อาจมีผลในด้านเศรษฐกิจ
ทำให้ประเทศนิวซีแลนด์มีทรัพยากรทางทะเลอย่างแหล่งน้ำมัน และแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง:
o https://www.geosociety.org/gsatoday/archive/27/3/article/GSATG321A.1.htm
o http://www.iflscience.com/environment/earth-has-a-brandnew-continent-cal...
o http://www.businessinsider.com/zealandia-continent-new-zealand-australia...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2-zealandia-%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8
Hits 479 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: