ดวงอาทิตย์เข้าสู่ “วัฏจักรสุริยะ” รอบใหม่เร็วกว่าที่คาด

วันที่เผยแพร่: 
Mon 17 September 2018

(ภาพจากฝีมือศิลปิน) จุดมืดบนดวงอาทิตย์เกิดจากสนามแม่เหล็กความเข้มสูงที่กักความร้อนเอาไว้ไม่ให้ออกสู่พื้นผิว

 

ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบสัญญาณบ่งบอกหลายประการที่ชี้ว่า ดวงอาทิตย์อาจกำลังเข้าสู่รอบการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่เรียกว่า "วัฏจักรสุริยะ" (Solar cycle) เร็วกว่าที่คาดกันเอาไว้

ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงล่าสุดของจุดมืดหรือจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sun spot) บ่งชี้ว่าดาวฤกษ์ศูนย์กลางของระบบสุริยะน่าจะได้เริ่มการเปลี่ยนผ่านจากรอบวัฏจักรที่ 24 เข้าสู่รอบวัฏจักรที่ 25 ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัด

 

วัฏจักรสุริยะซึ่งกินเวลารอบละ 11 ปีนั้น คือวงจรความเคลื่อนไหวของการเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ บนดวงอาทิตย์ เช่นลมสุริยะ โซลาร์แฟลร์ หรือการปลดปล่อยมวลโคโรนา ซึ่งความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะมีน้อยหรือแทบไม่มีเลยในช่วงเริ่มต้นวัฏจักรใหม่ ก่อนจะมีความเคลื่อนไหวเพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางวัฏจักร และค่อย ๆ ลดน้อยลงขณะกำลังจะสิ้นสุดวัฏจักรเดิมและเข้าสู่วัฏจักรใหม่อีกครั้ง

นักดาราศาสตร์เริ่มนับรอบวัฏจักรสุริยะกันมาตั้งแต่ปีคริสตศักราช 1755 โดยพบว่าการเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอนี้ จะช่วยให้ทำนายความเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ในรอบวัฏจักรถัดไปได้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพยากรณ์สภาพอากาศบนโลก รวมทั้งการระวังรักษาระบบสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบบอกพิกัดจีพีเอส ระบบจ่ายไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างโทรศัพท์และโทรทัศน์วิทยุ ซึ่งเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการปลดปล่อยพลังงานของดวงอาทิตย์เป็นครั้งคราว

 

ความเปลี่ยนแปลงที่บอกได้ชัดว่าดวงอาทิตย์เข้าสู่รอบวัฏจักรใหม่แล้วหรือยังมีอยู่ 2 ประการ คือจำนวนของจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่ลดน้อยลงจนอาจจะไม่มีเลยติดต่อกันหลายวัน และการกลับขั้วของสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ ซึ่งก็สามารถสังเกตได้จากความเปลี่ยนแปลงของคู่จุดมืดที่อยู่ในด้านตรงข้ามกันบนดวงอาทิตย์นั่นเอง

ทั้งนี้ จุดมืดบนดวงอาทิตย์ไม่ใช่จุดดับ เพราะยังมีอุณหภูมิสูงถึงราว 3,700 องศาเซลเซียส แต่ปรากฎเป็นจุดมืดเพราะสนามแม่เหล็กความเข้มสูงกักเก็บความร้อนเอาไว้ภายในโดยไม่ปล่อยให้ขึ้นมาสู่พื้นผิว จุดมืดจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางแม่เหล็กไฟฟ้าของดวงอาทิตย์ได้

เมื่อราวเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์ไม่มีจุดมืดปรากฏเลยเป็นเวลาติดต่อกันถึง 32 วัน แสดงถึงการเข้าสู่ภาวะ Solar minimum ที่ดวงอาทิตย์แทบจะไม่มีความเคลื่อนไหวหรือปะทุพลังงานออกมา ส่วนคู่จุดมืดที่อยู่ในบริเวณ AR 2720 นั้นมีการกลับทิศทางการหมุน ซึ่งแสดงถึงการกลับขั้วของสนามแม่เหล็กแล้ว ทั้งยังพบจุดมืดเกิดใหม่ที่มีทิศทางการหมุนแบบเดียวกัน แต่ยังไม่เคลื่อนขึ้นไปอยู่ในละติจูดที่สูงพอตามแบบแผนของวัฏจักรใหม่

เดิมคาดกันว่าดวงอาทิตย์จะเริ่มต้นรอบวัฏจักรสุริยะใหม่ในปีหน้า (2019) ซึ่งจะเป็นวัฏจักรที่ 25 โดยสภาพการณ์ของวัฏจักรก่อนหน้านี้ (24) ถือว่าดวงอาทิตย์มีความเคลื่อนไหวในระดับปานกลาง แต่ก็นับว่าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับวัฏจักรในช่วง 30 ปีก่อนหน้านั้น

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88-%E2%80%9C%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%8F%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B0%E2%80%9D-%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B9%87%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%94
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-45463515
Hits 349 ครั้ง