ตั้งท้องลูกแต่ละคนทำเซลล์ร่างกายแม่ชราลงได้ถึง 2 ปี

วันที่เผยแพร่: 
Thu 16 August 2018

ถึงแม่จะแก่ลงในระดับเซลล์หลังคลอด แต่ระหว่างตั้งครรภ์กลับเกิดการย้อนวัยให้เซลล์อิ่มเอิบอ่อนเยาว์ขึ้น

ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นของสหรัฐฯ ยืนยันว่า ความเชื่อเรื่องที่แม่จะมีสุขภาพเสื่อมถอยและดูแก่ขึ้นกว่าอายุตามปีเกิดหลังมีลูกนั้นเป็นความจริง โดยการตั้งครรภ์คลอดบุตรแต่ละครั้งสามารถเร่งให้เซลล์ร่างกายชราลงกว่าเดิมได้ราว 0.5 - 2 ปี

ก่อนหน้านี้เคยมีผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันในสหรัฐฯ ซึ่งชี้ว่าการมีลูกกับเขาคนหนึ่งทำให้แม่ต้องแก่ชราลงกว่าเดิมในระดับเซลล์ถึง 11 ปี เนื่องจากเทโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งเป็นดีเอ็นเอส่วนปลายในโครโมโซมของแม่หดสั้นลง จนมีความยาวเท่ากับของคนที่มีอายุมากกว่า และยิ่งมีบุตรมากคนขึ้นเท่าไหร่ เทโลเมียร์ก็จะยิ่งสั้นลงเท่านั้น

เป็นที่ทราบกันว่า ความยาวของเทโลเมียร์นั้นเชื่อมโยงกับสุขภาวะของร่างกายในระยะยาว รวมทั้งสามารถเป็นเครื่องบ่งบอกถึงอายุขัยของคนเราด้วย

ในครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นได้วิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของหญิงชาวฟิลิปปินส์ 800 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-22 ปี เพื่อหาร่องรอยของความชราในระดับเซลล์ที่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจาก 40% ของหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบุตรแล้วตั้งแต่ 1-5 คน

ผลปรากฏว่าหญิงที่ผ่านการตั้งครรภ์มีลูกในกลุ่มนี้ มีทั้งเทโลเมียร์ที่หดสั้นลง และมีร่องรอยทางเคมีของกระบวนการเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics marker)บนดีเอ็นเอด้วย ซึ่งร่องรอยนี้จะทำให้การแสดงออกของยีนเปลี่ยนไปได้ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม

Pregnant woman using a computerImage copyrightSCIENCE PHOTO LIBRARY

ทีมผู้วิจัยชี้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่พบทั้งสองประการข้างต้น มีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในร่างกายของหญิงที่แก่ชรากว่า ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการทางชีวภาพ โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเรื่องฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่อาจทำให้แม่มีความเครียดในการตั้งครรภ์และเลี้ยงดูลูกจนอ่อนล้าและชราลงอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ร่างกายของแม่หลังคลอดซึ่งแก่ชราลงถึงระดับเซลล์นี้ กลับมีสภาพที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งทีมผู้วิจัยพบว่าเทโลเมียร์และร่องรอยทางเอพิเจเนติกส์ในดีเอ็นเอของแม่ถูกย้อนวัยให้อ่อนเยาว์ขึ้นในการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ไม่ว่าแม่จะมีอายุมากขึ้นเท่าใดก็ตาม

ทีมผู้วิจัยระบุในรายงานซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports ว่า "นี่อาจเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและภูมิคุ้มกันร่างกายของหญิงมีครรภ์ ที่ปรับตัวให้สอดรับกับการเติบโตของทารกก็เป็นได้"

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-2-%E0%B8%9B%E0%B8%B5
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-45009455
Hits 595 ครั้ง