ทำไมเราจึงเห็นดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์เป็นเสี้ยวสว่าง?

วันที่เผยแพร่: 
Sun 15 April 2018

ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 หากสังเกตท้องฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้า ดาวเด่นดวงแรกที่เราสังเกตเห็นชัดด้วยตาเปล่าคือ “ดาวศุกร์”

เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะมองเห็นดาวศุกร์เป็นจุดสว่างเล็กๆ หากใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกลจะเห็นว่า ดาวศุกร์ที่สุกสว่างบนท้องฟ้านั้น มีลักษณะเป็นเสี้ยวคล้ายกับดวงจันทร์ที่เราคุ้นตาอยู่ทุกเดือน จนบางครั้งอาจแปลกใจว่าที่เราเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์นั้นคือดาวศุกร์หรือดวงจันทร์ ในช่วงนี้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวสว่างที่บางลง และมีขนาดปรากฏใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะเริ่มสังเกตดาวศุกร์ได้ยากขึ้น และหลังจากดาวศุกร์ผ่านตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ ในวันที่ 25 มีนาคม 2560 เราจะกลับมาสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้อีกครั้งทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืดก่อนดวงอาทิตยขึ้น และปรากฎเป็นเสี้ยวที่หนาขึ้นเรื่อยๆ หากเฝ้าติดตามดาวศุกร์ทุกวัน จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของเฟส หรือเสี้ยวสว่างของดาวศุกร์ได้อย่างชัดเจน 

 

ภาพถ่ายดาวศุกร์ ช่วงเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ ในช่วงคลื่นอัลตราไวโอเลต โดยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เชียงใหม่ (บันทึกภาพโดย : ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ,ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ)

 

ภาพแสดงการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวศุกร์

 

        ปรากฏการณ์ดังกล่าว นับเป็นเรื่องปกติของการสังเกตการณ์ดาวศุกร์จากมุมมองของผู้สังเกตบนโลก ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์วงใน (Inferior Planet) อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก เมื่อดาวศุกร์สว่างเต็มดวงจะเป็นช่วงที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่ไปด้านหลังดวงอาทิตย์เสมอ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นดาวศุกร์ในลักษณะเต็มดวงได้ เมื่อดาวศุกร์โคจรออกจากด้านหลังดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ก็จะเริ่มมีลักษณะแหว่งไปทีละน้อย ตามลักษณะปรากฎที่เราสังเกตเห็นจากโลก และเมื่อดาวศุกร์โคจรเข้ามาใกล้โลก จะสังเกตเห็นดาวศุกร์มีเสี้ยวสว่างบางลง แต่มีขนาดใหญ่มากขึ้น (ซึ่งตรงกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้) ต่อจากนั้นดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ด้านหน้าดวงอาทิตย์ เราจะไม่สามารถมองเห็นดาวศุกร์ได้ เนื่องจากถูกแสงดวงอาทิตย์บดบัง และจะเริ่มกลายเป็นเสี้ยวบาง ๆ อีกครั้งเมื่อโคจรห่างออกไป

        แต่ในบางครั้ง เมื่อดาวศุกร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจะมีโอกาสสังเกตเห็นดาวศุกร์ในลักษณะเป็น “เงาดำ” หรือที่เรียกกันว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” (ครั้งล่าสุดเกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555) ในแต่ละครั้งต้องใช้เวลากว่า 100 ปี ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 

 

ภาพปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555

 

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับดาวศุกร์ 

        ดาวศุกร์ ขึ้นชื่อว่าเป็น “ฝาแฝดของโลกหรือน้องสาวของโลก” เนื่องจากดาวศุกร์มีขนาดใกล้เคียงกับโลกมาก ดาวศุกร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลาประมาณ 224 วัน ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ ประกอบด้วย คาร์บอนไดออกไซด์ 96.5% ไนโตรเจน 3.5% 

        ดาวศุกร์มีลักษณะแตกต่างจากดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ คือ ดาวศุกร์หมนุรอบตัวเอง ในทิศตามเข็มนาฬิกา (ดาวเคราะห์ดวงอื่นหมุนทวนเข็มนาฬิกา) หมายความว่า หากเราไปยืนอยู่บนดาวศุกร์ จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก ตรงข้ามกับโลกของเรา

        นอกจากนี้ โลกและดาวศุกร์ยังเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Green House Effect) แต่บนดาวศุกร์เป็นปรากฏการณ์เรือนกระจกแบบกู่ไม่กลับ (Runaway Green House Effect) ดาวศุกร์จึงเป็นดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจศึกษาวิจัยปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากดาวศุกร์มาใช้ในการศึกษาการเกิดภาวะเรื่อนกระจกบนโลกของเราได้เช่นกัน

        และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องศึกษาดาวเคราะห์ดวงอื่น นอกเหนือจากการศึกษาแค่เพียงในโลกของเราเท่านั้น

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%A8%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9C%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-0
เจ้าของข้อมูล: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/2880-venus-telescope
Hits 611 ครั้ง