รายงานของยูเอ็นชี้สัตว์เเละพืชเกือบหนึ่งล้านสายพันธุ์จะสูญพันธุ์

วันที่เผยแพร่: 
Wed 1 May 2019

ร่างรายงานของยูเอ็นชิ้นนี้จะออกมาเปิดเผยอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้ โดยชี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับการสูญเสียอย่างรวดเร็วของอากาศที่สะอาด เเหล่งน้ำดื่ม ป่าไม้ที่ช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แมลงผสมเกสรพืช ปลาที่อุดมด้วยโปรตีนเ เละป่าชายเลนที่ช่วยลดความเเรงของมรสุม

เเละนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางนิเวศวิทยาที่สร้างคุณประโยชน์เเก่โลก เเละการสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปจะสร้างภัยคุกคามเเก่โลกไม่น้อยไปกว่าผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศโลกที่กำลังร้อนขึ้น

ร่างรายงานที่ชื่อ Summary for Policy Makers ที่ยาว 44 หน้าชิ้นนี้ถือว่าการสูญเสียความหลากหลายทางนิเวศวิทยาเเละภาวะโลกร้อนเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด

Robert Watson ประธานคณะผู้จัดทำรายงานชิ้นนี้ของยูเอ็น กล่าวกับเอเอฟพีว่า เราจำเป็นต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศกับการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ มีความสำคัญเท่ากันต่อทั้งสิ่งเเวดล้อม การพัฒนาเเละเศรษฐกิจ

เขากล่าวว่า วิธีผลิตอาหารและพลังงานของคนเราส่งผลเสียต่อความหลากหลายทางนิเวศวิทยาเเละบทบาทของธรรมชาติที่มีต่อคน และจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างถาวรเพื่อลดความเสียหาย

การตัดไม้ทำลายป่ากับการเกษตรกรรม รวมทั้งการเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นแหล่งสร้างแก๊สเรือนกระจกราว 1 ใน 4 ของทั้งหมดที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเเละมีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศวิทยาธรรมชาติ

รายงานของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยา (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services) หรือ IPBES เตือนว่า อัตราการการสูญพันธุ์ของสัตว์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

รายงานนี้ชี้ว่า อัตราการสูญเสียในขณะนี้อยู่ที่หลายสิบถึงหลายร้อยเท่าตัวเมื่อเทียบกับที่เคยมีมาโดยเฉลี่ยตลอดช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมา เเละบอกว่ามีสัตว์ราวครึ่งล้านถึงหนึ่งล้านสายพันธุ์ที่กำลังจะกลายเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 6 ในรอบ 500 ล้านปี กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่แล้วสร้างจุดจบแก่ยุคครีเตเชียส (Cretaceous period) เมื่อราว 66 ล้านปีที่แล้ว ตอนที่ก้อนอุกกาบาตขนาดความกว้าง 10 กิโลเมตรพุ่งชนโลก ทำให้สิ่งมีชีวิตเกือบทุกประเภทสาบสูญไปจากโลก

บรรดานักวิทยาศาสตร์ประมาณว่า โลกทุกวันนี้มีสัตว์สายพันธุ์ที่แตกต่างกันถึงราว 8 ล้านชนิดเเละส่วนมากเป็นเเมลง

Rebecca Shaw หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ที่กองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านภาวะโลกร้อนเเละความหลากหลายทางชีววิทยาของยูเอ็น กล่าวว่า หากเราต้องการให้โลกมีความยั่งยืนเเละสามารถรองรับความจำเป็นของคนทั่วโลกได้ เราต้องปรับวิถีข้างต้นนี้ภายใน 10 ปีข้างหน้าอย่างที่ดำเนินการกับภาวะโลกร้อน

ปัจจัยโดยตรงที่ทำให้สัตว์และพืชสูญพันธุ์จัดเรียงตามสำดับความสำคัญ ได้เเก่ การลดลงของแหล่งที่อยู่อาศัยเเละการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ที่ดิน การล่าสัตว์เป็นอาหารหรือเพื่อการลักลอบค้าชิ้นส่วนสัตว์ป่า ภาวะโลกร้อน มลภาวะเเละสัตว์พันธุ์ต่างถิ่น อาทิ หนู ยุงเเละงู ที่ติดมากับเรือหรือเครื่องบิน

Watson ประธานคณะผู้ร่างรายงานผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่า มีปัจจัยโดยตรงสำคัญที่สุดสองอย่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียทางชีววิทยาเเละเกิดภาวะโลกร้อน นั่นก็คือจำนวนประชากรบนโลกที่เพิ่มขึ้นเเละความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการบริโภค

มาจนถึงขณะนี้ อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นเเล้ว 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับอุณหภูมิในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เกือบกึ่งหนึ่งของระบบนิเวศวิทยาบนบกเเละในทะเลอ่อนแอลง เพราะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ การอุดหนุนด้านการประมง อุตสาหกรรมการเกษตร การปศุสัตว์ การทำเหมืองเเละการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพหรือจากซากฟอสซิล สร้างของเสีย การสูญเปล่า เเละทำให้เกิดการบริโภคเกินพอดี

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B8%8A%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%8D%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C
Hits 235 ครั้ง