ลดน้ำหนักอย่างไรห่างไกล YOYO Effect

วันที่เผยแพร่: 
Wed 14 November 2018

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า YOYO Effect กันมาบ้างแล้ว แต่แท้จริงแล้วมันคืออะไรกันแน่ ลองมาหาคำตอบกันค่ะ “YOYO Effect” คือการเหวี่ยงตัวอย่างรวดเร็วของน้ำหนักตัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการเหวี่ยงของลูกดิ่งหรือโยโย่ ลูกดิ่งเป็นของเล่นชนิดหนึ่งที่หมุนโดยมีแกนติดกับเชือกเวลาเล่นต้องจับลูกดิ่งโยนลงพื้นถ้าเราออกแรงส่งลงพื้นมากลูกดิ่งก็จะเหวี่ยงขึ้นมาแรงและเร็วหลายคนจึงเปรียบเทียบการเหวี่ยงตัวขึ้นของน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วหลังจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธีนั่นเอง

มีหลายคนที่เข้าใจว่าสาเหตุของ YOYO Effect มาจาการทานยาลดความอ้วนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วการเกิด YOYO Effect มีหลายสาเหตุ เช่น การพยายามลดอาหาร เปลี่ยนประเภทอาหารก็เป็นสาเหตุได้เช่นกันเนื่องจากร่างกายของเรามีความซับซ้อน ระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ สามารถสั่งได้ด้วยกิจวัตรประจำวันของแต่ละคนจากสมดุลเคมี ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อระบบประสาทส่วนกลาง และอื่นๆ อีกมากมาย ร่างกายคนเราอาศัยความเคยชินกับปริมาณอาหารและปริมาณแคลลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวัน รวมทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับตัวเราเองในแต่ละวันก็เป็นตัวกำหนดอัตราการเผาผลาญพลังงาน (metabolism)

YOYO Effect เกิดจากภาวะการขาดสมดุลในร่างกาย การที่คนส่วนใหญ่ลดปริมาณอาหารหรือเปลี่ยนประเภทของอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีและถูกต้อง แต่ถ้าเราทำอย่างฉับพลันก็อาจทำให้เกิดผลเสียได้ เช่น ปกติเราใช้พลังงานวันละ 800 – 1,200 kcal (กิโลแคลอรี่) ถ้าเราทานอาหารวันละ 400 kcal เราก็จะสามารถดึงพลังงานเก่าที่สะสมในร่างกายออกมาใช้ได้วันละ 400 – 600 kcal แต่เมื่อเรามีการลดปริมาณอาหารลงอย่างรวดเร็วเป็นเวลาติดต่อกันอย่างน้อย 3 วันร่างกายจะรับรู้ว่าเรากำลังจะอดตายและจะลดการเผาผลาญพลังงานลงจากเดิม (800-1200 kcal) เป็น 400-600 kcal เพื่อกักเก็บพลังงานที่เราสะสมไว้ให้มากที่สุด ช่วงแรกน้ำหนักจะลดลงเร็วมากแต่ระยะหลังจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ลดลง แต่เรากลับมารับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิมคือ 1200 Kcal แต่ร่างกายยังคงเผาผลาญได้แค่ 400 Kcal ดังนั้นเราจะเหลือพลังงานถึง 800 Kcal ที่สามารถเปลี่ยนไปเป็นไขมันสะสมตามร่างกาย นั่นหมายความว่าการปรับลดหรือเปลี่ยนประเภทอาหารอย่างรวดเร็วทำให้น้ำหนักตัวเราขึ้นลงได้อย่างรวดเร็วเป็น YOYO Effect จากพฤติกรรมของเราเอง ดังนั้นผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารโดยไม่เกิด YOYO Effect ควรควบคุมปริมาณอาหารอย่างต่อเนื่อง และออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อคงระดับเมตาบอลิซึมให้พอดีกับอาหารที่รับประทานและกิจกรรมที่ทำ และไม่ควรอดอาหารหรือทำให้ร่างกายเกิดความเคยชินว่ากำลังจะอดตายจนทำให้
การเผาผลาญลดลง

สุดท้ายที่ควรรู้เกี่ยวกับการลดน้ำหนักคือยิ่งเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้นระดับการเผาผลาญอาหารของเราก็จะยิ่งลดลง ดังนั้นเราต้องหาทางเพิ่มกระบวนการเผาผลาญอาหารเพื่อให้เกิดความสมดุลในร่างกายนะคะ

เรียบเรียงโดย
น.ส. ธนภรณ์ ก้องเสียง

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5-yoyo-effect
Hits 336 ครั้ง