สับสนซ้ายขวา อธิบายได้อย่างไร?

วันที่เผยแพร่: 
Sun 15 April 2018

หลงทางยังไม่อึดอัดใจเท่าหลงทิศ หากคุณเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความสับสนในการเลือกทิศทางระหว่างซ้ายหรือขวา  ยกตัวอย่างเช่น เมื่อผู้สอนขับรถยนต์ของคุณขอให้คุณเลี้ยวซ้าย คุณสามารถตัดสินใจเลือกหันพวงมาลัยเพื่อเลี้ยวฝั่งด้านซ้ายของตัวเองในทันทีได้หรือไม่? เพราะหากคำตอบคือ “ไม่” คุณคือหนึ่งในสัดส่วนของประชากรที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้ซ้าย-ขวา

7747 1

  ภาพที่ 1 ทางเลือกซ้ายหรือขวา 
ที่มา 683440/Pixabay

          การรับรู้ซ้าย-ขวา เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ซับซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท เช่นเดียวกับความสามารถในการรวบรวมข้อมูลประสาทสัมผัสและการมองเห็น ภาษา และความจำ สำหรับบางคนอาจตัดสินใจเลือกได้ในทันที แต่สำหรับบางคนต้องหยุดคิดสักชั่วครู่จึงจะสามารถแบ่งแยกได้ว่าทางใดซ้ายหรือขวา

เปลี่ยนผิดให้เป็นถูกเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด

          ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องแย่อะไรเมื่อหลงทางจากการตัดสินใจผิดในการเลือกทิศทาง แต่ก็มีหลายสถานการณ์ที่ความสับสนระหว่างด้านซ้ายและด้านขวาก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรง หลายอาชีพที่สร้างความผิดพลาดอย่างมากหากมีปัญหาในการแยกแยะความแตกต่างดังกล่าว และจะเป็นข้อผิดพลาดที่น่าเศร้าที่สุด เมื่อเกิดขึ้นในงานทางด้านการแพทย์อย่างการผ่าตัดเปลี่ยนไตผิดข้างหรือการตัดขาผิดข้าง และถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสอบและวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบไว้ล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยงแล้ว แต่ความผิดพลาดของมนุษย์มักจะเป็นต้นตอของสาเหตุต่าง ๆ เสมอ

7747 2

ภาพที่ 2 การผ่าตัด 
ที่มา sasint/Pixabay

         อีกหนึ่งปัญหาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพด้านสุขภาพก็คือ เมื่อแพทย์หรือพยาบาลต้องเผชิญหน้ากับผู้ป่วยจากทางด้านขวาของพวกเขา แต่เป็นทางด้านซ้ายของคนไข้ ซึ่งการแยกแยะระหว่างซ้ายหรือขวาอย่างถูกต้องจะเกี่ยวข้องกับการรับรู้ระยะและทิศทาง (Visuospatial Function) ของมโนภาพที่หมุนเปลี่ยนแปลงทิศทางซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจ (Mental rotation image)

         ความผิดพลาดเป็นลักษณะโดยธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์   บางครั้งเราก็เป็นคนก่อความผิดพลาด และบ่อยครั้งที่เราก็เป็นคนได้รับความผิดพลาดไว้เสียเอง  แต่ปัญหาความสับสนระหว่างซ้ายหรือขวานั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาได้มากกว่าครั้งเดียว ทั้งนี้หลักฐานทางการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมักจะมีปัญหาในเรื่องของความสับสนในการแยกแยะซ้ายหรือขวามากกว่าผู้ชาย เนื่องด้วยผู้ชายจะมีการทำงานในเรื่องของการรับรู้ระยะและทิศทางได้ดีกว่าผู้ชาย

ผลกระทบจากการเสียสมาธิ  (Distraction effect)

         การแยกแยะซ้ายและขวาที่ไม่ชัดเจนเกิดขึ้นได้จากผลกระทบที่ทำให้เสียสมาธิ เช่นการทำงานของแพทย์หรือพยาบาล  เนื่องด้วยโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่าง ๆ  มักจะมีคนป่วยมาใช้บริการอยู่ตลอดเวลา ร่วมกับขั้นตอนที่ซับซ้อนในระบบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคน  แพทย์จึงถูกรบกวนขณะทำงานอยู่บ่อยครั้งจากการรับสายโทรศัพท์แจ้งผลการตรวจ เสียงจากเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือแม้กระทั่งการตอบคำถามทางคลินิกของเพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วย ตลอดจนญาติของผู้ป่วย ดังนั้นสภาพแวดล้อมทางคลินิกจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

         งานวิจัยหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร   Medical Education เป็นการศึกษาผลกระทบจากการถูกขัดจังหวะในระหว่างการทำงานต่อความสามารถในการรับรู้ทิศทางของนักศึกษาแพทย์จำนวน 234 ท่าน โดยพบว่า สภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวน การถามคำถามทางคลินิก หรือแม้กระทั่งระดับเสียงพื้นฐานในแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลมีผลต่อความสามารถในการตัดสินใจแยกแยะระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา และผลกระทบนั้นมักจะเกิดขึ้นในนักศึกษาแพทย์ที่มีอายุมากและเป็นผู้หญิง

         ความสามารถของแต่ละบุคคลในการรับรู้และแยกแยะทิศทางได้อย่างถูกต้องยังคงคลุมเครือ หลายคนอ้างว่า ตนเองมีความสามารถในการแยกแยะซ้ายและขวาได้ดี แต่เมื่อวัดด้วยเหตุผลแล้วมักไม่เป็นเช่นนั้น

เทคนิคแยกแยะด้านซ้ายและขวา

7747 3

ภาพที่ 3 เทคนิคในการแยกด้านซ้าย 
ที่มา iamrosie

         บุคคลที่มีปัญหาในการรับรู้ทิศทางมักจะมีเทคนิคในการจำของตัวเอง เช่น การทำมุม 90 องศาของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือซ้ายของตัวเองในลักษณะเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ “L” (Left) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของด้านซ้ายมือของตัวเอง แต่อย่างไรก็ตามเทคนิคจำดังกล่าวยังคงมีความผิดพลาดเกี่ยวกับปัญหาการแยกแยะซ้ายและขวาในหลายกรณี ดังนั้นจึงควรมีการปลูกฝังให้เด็กๆ ตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการตัดสินใจอย่างถูกต้องและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดในเรื่องของทิศทางตั้งแต่ยังเป็นผู้เยาว์ เพื่อลดสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาดต่าง ๆ  

        อย่างไรก็ดี การลดการรบกวนต่างๆ ทั้งเสียงและการกระทำที่ก่อให้เกิดการรบกวนเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์หรือระหว่างขั้นตอนสำคัญที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่น

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%B2-%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3
เจ้าของข้อมูล: 
http://www.scimath.org/article-science/item/7747-2017-12-04-06-15-41
Hits 17,381 ครั้ง