หมาจอมซนไซบีเรียนฮัสกี้มีตาสีฟ้าเพราะยีนซ้ำซ้อน

วันที่เผยแพร่: 
Fri 12 October 2018

หมาไซบีเรียนฮัสกี้มีตาสีฟ้าImage copyrightGETTY IMAGES

ดวงตาสีฟ้าใสที่ดูแปลกและลึกลับของสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ ถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดอย่างหนึ่งที่ทำให้มันเป็นที่นิยมในหมู่คนเลี้ยงสุนัขทั่วโลก ซึ่งล่าสุดนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะได้คำตอบว่าดวงตาชวนพิศวงคู่นี้มีที่มาอย่างไรกันแน่

ทีมนักวิจัยจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ของสหรัฐฯ ร่วมกับทีมวิจัยของ Embark Veterinary Inc. ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ให้บริการด้านพันธุกรรมสุนัข ได้วิเคราะห์ดีเอ็นเอของสุนัข 6,070 ตัวทั้งพันธุ์แท้และพันทาง โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่ายและข้อมูลอื่น ๆ ที่เจ้าของสุนัขให้มาทางแบบสำรวจออนไลน์ด้วย ซึ่งในจำนวนนี้มีสุนัขที่ตาสีฟ้าล้วนหรือสีฟ้าเป็นบางส่วนอยู่ 156 ตัว
 

ผลวิเคราะห์ทางพันธุกรรมพบว่า สุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ซึ่งมีตาสีฟ้าทั้งสองข้าง จะมีความแปรผันหลากหลายทางพันธุกรรมที่เรียกว่า Haplotype แบบหนึ่ง บนโครโมโซมคู่ที่ 18 โดยหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่แสดงลักษณะนี้มีซ้ำกันอยู่เป็น 2 ตัว

ความแปรผันหลากหลายทางพันธุกรรมดังกล่าวไม่ใช่การกลายพันธุ์ (Mutation) เนื่องจากเป็นลักษณะแตกต่างที่พบได้มากพอสมควรในกลุ่มประชากรหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ยีนตัวเดียวกันจะมีลำดับเบสต่างกันออกไปบ้างเป็นบางจุด และสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ตาสีฟ้ามียีนที่แตกต่างนี้เพิ่มจากปกติมาอีกตัวหนึ่ง

ในอนาคตข้อมูลทางพันธุกรรมจะช่วยให้ผู้เพาะพันธุ์สุนัขควบคุมสีตาของลูกสุนัขที่จะเกิดมาได้Image copyrightGETTY IMAGES

คำบรรยายภาพในอนาคตข้อมูลทางพันธุกรรมจะช่วยให้ผู้เพาะพันธุ์สุนัขควบคุมสีตาของลูกสุนัขที่จะเกิดมาได้

มีการตีพิมพ์รายงานวิจัยนี้ลงในวารสาร PLOS Genetics โดยทีมผู้วิจัยเชื่อว่า สาเหตุเดียวกันนี้ยังสามารถอธิบายได้ว่าทำไมสุนัขพันธุ์ออสเตรเลียนเชเพิร์ดที่มีขนสามสีจึงมีตาสีฟ้าด้วย

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ปัจจัยทางพันธุกรรม 2 ประการ ทำให้สุนัขพันธุ์ที่มีขนลายหินอ่อน (Merle) และลายด่าง (Piebald) มีตาสีฟ้า ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกลายพันธุ์ของโปรตีนที่ทำให้ลายขนมีลักษณะแปลกออกไปด้วย แต่เรื่องนี้ไม่สามารถใช้อธิบายกรณีของเหล่าหมาฮัสกี้ได้

นายแอรอน แซมส์ ผู้แทนของ Embark Veterinary Inc. บอกว่า "ในอนาคตข้อมูลทางพันธุกรรมนี้จะช่วยให้ผู้เพาะพันธุ์สุนัขควบคุมสีตาของลูกสุนัขที่จะเกิดมาได้ แต่เรายังคงต้องวิจัยเพิ่มเติมอีก เพราะมีกรณีสุนัขฮัสกี้ที่พบได้ยากบางรายซึ่งมียีนซ้ำซ้อนแต่กลับไม่มีตาสีฟ้า แสดงว่ายังมีปัจจัยแวดล้อมหรือปัจจัยทางพันธุกรรมอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อเรื่องนี้อยู่ โดยที่เราไม่ทราบ"

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%AE%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%8B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-45766909
Hits 672 ครั้ง