อัลบีโด

วันที่เผยแพร่: 
Wed 14 March 2018

เป็นที่ทราบดีว่า พื้นผิวของวัตถุสีดำดูดกลืนรังสีได้ดีกว่าวัตถุสีขาว ถ้าเรายืนเท้าเปล่าบนพื้นสีดำเราจะร้อนกว่ายืนบนพื้นสีขาว ทั้งนี้เป็นเพราะพื้นผิวสีขาวสะท้อนแสงดีกว่าพื้นสีดำ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า พื้นผิวสีดำดูดกลืนรังสีได้ดีกว่าพื้นผิวสีขาว ดังที่แสดงในภาพที่ 1  เราเรียกความสามารถในการสะท้อนแสงของพื้นผิวว่า “อัลบีโด” (Albedo)

ภาพที่ 1  พื้นผิวสีเข้มดูดกลืนรังสีได้ดีกว่า

อัลบีโด เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบค่าการสะท้อนแสงของพื้นผิว กับ ปริมาณรังสีทั้งหมดที่ตกกระทบ มักแสดงด้วยตัวเลขทศนิยมระหว่าง 0 – 1 กล่าวคือ วัตถุที่มีการดูดกลืนรังสีอย่างสมบูรณ์ ไม่มีการสะท้อนรังสีกลับคืนเลยจะมีอัลบีโด = 0 ส่วนวัตถุที่มีการสะท้อนแสง 100% และไม่มีการดูดกลืนรังสีเลยมีอัลบีโด = 1

ภาพที่ 2 สิ่งปกคลุมพื้นผิวโลก

โลกของเรามีพื้นผิวที่ถูกปกคลุมด้วยวัสดุหลายชนิด (Landcover types) ซึ่งมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงแตกต่างกัน เมฆและแผ่นน้ำแข็งมีสีขาวมีอัลบีโดสูง สามารถในสะท้อนพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์กลับคืนสู่อวกาศได้ดี ทำให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิต่ำ  ขณะที่พื้นดินและป่าไม้มีสีเข้มมีอัลบีโดต่ำมีคุณสมบัติในการดูดกลืนรังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้พื้นผิวโลกมีอุณหภูมิสูง  ส่วนพื้นผิวน้ำจะสะท้อนแสงได้ดีเวลาที่แสงอาทิตย์ตกกระทบในมุมลาด และจะดูดกลืนแสงอาทิตย์ได้ดีในมุมสูง  ดังนั้นสัดส่วนของสิ่งปกคลุมพื้นที่ (Landcover) แต่ละชนิดจึงเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมอุณหภูมิพื้นผิวของโลก

ตารางที่ 1 อัลบีโด
 

ประเภทของสิ่งปกคลุมพื้นผิว   อัลบีโด
เมฆ 0.7 - 0.8 
หิมะและน้ำแข็ง 0.8 - 0.85 
ทราย   0.2 - 0.3
ทุ่งหญ้า   0.20 - 0.25
ป่าไม้  0.05 - 0.1
 น้ำ (เวลาเที่ยง)  0.03 - 0.05
 น้ำ (เวลาเช้าหรือเย็น)  0.5 - 0.8

ตารางที่ 1 แสดงค่าอัลบีโดของสิ่งปกคลุมพื้นผิวแต่ละชนิด  สิ่งปกคลุมพื้นผิวโลกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งโดยธรรมชาติและโดยฝีมือมนุษย์   การเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมพื้นผิวโดยธรรมชาติ ได้แก่ กระบวนการธรณีแปรสัณฐาน การเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสน้ำในมหาสมุทร และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เหล่านี้มักเกินขึ้นอย่างช้าๆ เป็นเวลานานหลายศตวรรษ  ส่วนการเปลี่ยนแปลงโดยฝีมือมนุษย์ได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่า  การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศอันจะนำมาซึ่งปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น  และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ถ้าเราเปลี่ยนแปลงสิ่งปกคลุมพื้นผิวที่มีอัลบีโดสูงให้เป็นอุณหภูมิต่ำ เช่น การทำให้แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลายเป็นน้ำในมหาสมุทร  อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก  น้ำแข็งก็จะละลายมากขึ้น ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

 

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%94
เจ้าของข้อมูล: 
http://www.lesa.biz/earth/earth-system/albedo
Hits 10,504 ครั้ง