เมฆชนิดต่างๆ

วันที่เผยแพร่: 
Tue 26 March 2019

เมฆซึ่งเกิดขึ้นในธรรมชาติมี 2 รูปร่างลักษณะคือ เมฆก้อน และเมฆแผ่น

เราเรียกเมฆก้อนว่า “เมฆคิวมูลัส” (Cumulus) และเรียกเมฆแผ่นว่า “เมฆสเตรตัส” (Stratus)
หากเมฆก้อนลอยชิดติดกัน เรานำชื่อทั้งสองมารวมกัน และเรียกว่า “เมฆสเตรโตคิวมูลัส” (Stratocumulus)

ในกรณีที่เป็นเมฆฝน เราจะเพิ่มคำว่า “นิมโบ” หรือ “นิมบัส” ซึ่งแปลว่า “ฝน” เข้าไป
เช่น เราเรียกเมฆก้อนที่มีฝนตกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus)
และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกว่า “เมฆนิมโบสเตรตัส” (Nimbostratus)

เราแบ่งเมฆออกเป็น 3 ระดับ คือ เมฆชั้นต่ำ เมฆชั้นกลาง และ เมฆชั้นสูง

เมฆชั้นต่ำ (สูงไม่เกิน 2 กิโลเมตร)

เมฆชั้นกลาง (2 - 6 กิโลเมตร)
เราจะเติมคำว่า “อัลโต” ซึ่งแปลว่า “ชั้นกลาง” ไว้ข้างหน้า
เช่น เราเรียกเมฆก้อนชั้นกลางว่า “เมฆอัลโตคิวมูลัส” (Altocumulus)
และเรียกเมฆแผ่นชั้นกลางว่า “เมฆอัลโตสเตรตัส” (Altostratus)

เมฆชั้นสูง (6 กิโลเมตรขึ้นไป)
เราจะเติมคำว่า “เซอโร” ซึ่งแปลว่า “ชั้นสูง” ไว้ข้างหน้า
เช่น เราเรียกเมฆก้อน ชั้นสูงว่า “เมฆเซอโรคิวมูลัส” (Cirrocumulus)
เรียกเมฆแผ่นชั้นสูงว่า “เมฆเซอโรสเตรตัส” (Cirrostratus)

และเรียกเมฆชั้นสูง ที่มีรูปร่างเหมือนขนนกว่า “เมฆเซอรัส” (Cirrus)

1. เมฆชั้นต่ำ (Low Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับต่ำกว่า 2 กิโลเมตร

เมฆสเตรตัส (Stratus)
เมฆแผ่นบาง ลอยสูงเหนือพื้นไม่มากนัก เช่น ลอยปกคลุมยอดเขามักเกิดขึ้นตอนเช้า
หรือหลังฝนตก บางครั้งลอยต่ำปกคลุมพื้นดิน เราเรียกว่า “หมอก”

เมฆสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus)
เมฆก้อน ลอยติดกันเป็นแพ ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน มีช่องว่างระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย
มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี และมีสีเทา เนื่องจากลอยอยู่ในเงาของเมฆชั้นบน

เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)
เมฆแผ่นสีเทา เกิดขึ้นเวลาที่อากาศมีเสถียรภาพ ทำให้เกิดฝนพรำๆ ฝนผ่าน หรือฝนตกแดดออก
ไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าร้องฟ้าผ่า มักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ

2. เมฆชั้นกลาง (Middle Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับสูง 2 - 6 กิโลเมตร

เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus)
เมฆก้อน สีขาว มีลักษณะคล้ายฝูงแกะ ลอยเป็นแพ มีช่องว่างระหว่างก้อนเล็กน้อย

เมฆอัลโตสเตรตัส (Altostratus)
เมฆแผ่นหนา ส่วนมากมักมีสีเทา เนื่องจากบังแสงดวงอาทิตย์ ไม่ให้ลอดผ่าน
และเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้างมาก หรือปกคลุมท้องฟ้าทั้งหมด

3. เมฆชั้นสูง (High Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร

เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus)
เมฆสีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง มีลักษณะเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ มักเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าบริเวณกว้าง

เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus)
เมฆแผ่นบาง สีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง โปร่งแสง
บางครั้งหักเหแสง ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด และดวงจันทร์ทรงกลด เป็นรูปวงกลม สีคล้ายรุ้ง

เมฆเซอรัส (Cirrus)
เมฆริ้ว สีขาว รูปร่างคล้ายขนนก เป็นผลึกน้ำแข็ง มักเกิดขึ้นในวันที่มีอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม

4. เมฆก่อตัวในแนวตั้ง (Clouds of Vertical Development)

เมฆคิวมูลัส (Cumulus)
เมฆก้อนปุกปุย สีขาวเป็นรูปกะหล่ำ ก่อตัวในแนวตั้ง เกิดขึ้นจากอากาศไม่มีเสถียรภาพ
ฐานเมฆเป็นสีเทาเนื่องจากมีความหนามากพอที่จะบดบังแสง จนทำให้เกิดเงา
มักปรากฏให้เห็นเวลาอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม

เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)
เมฆก่อตัวในแนวตั้ง พัฒนามาจากเมฆคิวมูลัส มีขนาดใหญ่มากปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หากกระแสลมชั้นบนพัดแรง ก็จะทำให้ยอดเมฆรูปกะหล่ำ
กลายเป็นรูปทั่งตีเหล็ก ต่อยอดออกมาเป็น เมฆเซอโรสเตรตัส หรือเมฆเซอรัส

“เมฆ” เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยกตัวของอากาศเท่านั้น
กลไกที่ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของอากาศ ในแนวดิ่งเช่นนี้ มี 4 กระบวนการ ดังนี้

1. สภาพภูมิประเทศ (terrain)
เมื่อกระแสลมปะทะภูเขา อากาศถูกบังคับให้ลอยสูงขึ้น (เนื่องจากไม่มีทางออกทางอื่น)
จนถึงระดับควบแน่นก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

ดังเราจะเห็นได้ว่า บนยอดเขาสูงมักมีเมฆปกคลุมอยู่ ทำให้บริเวณยอดเขามีความชุ่มชื้นและอุดมไปด้วยป่าไม้

และเมื่อกระแสลมพัดผ่านยอดเขาไป อากาศแห้งที่สูญเสียไอน้ำไป จะจมตัวลงจนมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ภูมิอากาศบริเวณหลังภูเขาจึงเป็นเขตที่แห้งแล้ง เรียกว่า “เขตเงาฝน” (Rain shadow)

1. เมฆ จาก สภาพภูมิประเทศ สภาพ ภูมิประเทศ (terrain)

2. การเกิดเมฆ จากแนวปะทะ ของอากาศ (cold front / warm front)

อากาศร้อนมีความหนาแน่นต่ำกว่าอากาศเย็น
เมื่ออากาศร้อนปะทะกับอากาศเย็น อากาศร้อนจะเสยขึ้น
และอุณหภูมิลดต่ำลงจนถึงระดับควบแน่น ทำให้เกิดเมฆและฝน
ดังเราจะเคยได้ยินข่าวพยากรณ์อากาศที่ว่า
ลิ่มความกดอากาศสูง (อากาศเย็น) ปะทะกับลิ่มความกดอากาศต่ำ (อากาศร้อน) ทำให้เกิดพายุฝน

2. เมฆ จากแนวปะทะ ของอากาศ(cold front / warm front)

3. เมฆจาก อากาศบีบตัว (convergence)

เมื่อกระแสลมพัดมาปะทะกัน อากาศจะยกตัวขึ้น
ทำให้อุณหภูมิลดต่ำลงจนเกิดอากาศอิ่มตัว
ไอน้ำในอากาศควบแน่นเป็นหยดน้ำ กลายเป็นเมฆ

3. เมฆจาก อากาศบีบตัว (convergence)

4. เมฆ จากการพาความร้อน (thermal)

พื้นผิวของโลกมีความแตกต่างกัน จึงมีการดูดกลืนและคายความร้อนไม่เท่ากัน
จึงมีผลทำให้กลุ่มอากาศที่ลอยอยู่เหนือมัน มีอุณหภูมิแตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน
(ตัวอย่างเช่น กลุ่มอากาศที่ลอยอยู่เหนือพื้นคอนกรีตจะมีอุณหภูมิสูงกว่ากลุ่มอากาศที่ลอยอยู่เหนือพื้นหญ้า)
กลุ่มอากาศที่มีอุณหภูมิสูงมีความหนาแน่นน้อยกว่าอากาศในบริเวณโดยรอบ จึงลอยตัวสูงขึ้น
ดังเราจะเห็นว่า ในวันที่มีอากาศร้อน นกเหยี่ยวสามารถลอยตัวอยู่เฉยๆ โดยไม่ต้องขยับปีกเลย

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%86%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%86
Hits 14,818 ครั้ง