เหตุผล 8 ข้อที่มนุษย์หลงรักพลาสติกตัวร้าย

วันที่เผยแพร่: 
Tue 10 July 2018

ขยะพลาสติกจำนวนมากถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร

ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกที่ก่อมลภาวะไปทุกแห่งในขณะนี้ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ามาจากความนิยมชมชอบที่มีมานานนับศตวรรษของมนุษย์ส่วนใหญ่ ซึ่งพากันติดอกติดใจวัสดุใช้งานง่าย ราคาถูก มีน้ำหนักเบา ทั้งปรับเปลี่ยนเป็นสิ่งของได้หลายรูปแบบอย่างพลาสติกนั่นเอง

พลาสติกเริ่มเป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่เราเดินทางมาถึงจุดที่ใช้พลาสติกกันเกินพอดีได้อย่างไร ? เหตุผลที่ทำให้ผู้คนพากันหลงใหลวัสดุอย่างพลาสติกมีอย่างน้อย 8 ข้อดังต่อไปนี้

1. พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกเพื่อทดแทนงาช้าง
ในปี 1863 เกิดภาวะขาดแคลนงาช้างอย่างหนัก ทำให้บริษัทผู้ผลิตลูกบิลเลียดของสหรัฐฯที่ใช้งาช้างเป็นวัตถุดิบ ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวัสดุทดแทนได้สำเร็จ ทำให้นายจอห์น เวสลีย์ ไฮแอต นักประดิษฐ์มือสมัครเล่น ทดลองใช้ใยฝ้ายและกรดไนตริกสังเคราะห์ "เซลลูลอยด์" (Celluloid) ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดแรกขึ้น

แม้เซลลูลอยด์จะนำมาใช้ผลิตลูกบิลเลียดได้คุณภาพไม่สู้ดีนัก แต่หลังจากนั้นก็มีการค้นพบประโยชน์นับพันอย่างของวัสดุชนิดใหม่นี้ติดตามมา ทำให้ทั่วโลกมีการใช้งานพลาสติกกันกว้างขวางขึ้น

2. พลาสติกทำให้เราได้ชมภาพยนตร์
แม้ฟิล์มภาพยนตร์ที่ผลิตขึ้นครั้งแรกจะทำมาจากกระดาษ แต่ความเหนียวและแข็งแกร่งของเซลลูลอยด์มีความเหมาะสมต่อการใช้งานด้านนี้มากยิ่งกว่า พลาสติกชนิดที่ติดไฟได้ถูกนำมาขึ้นรูปให้เป็นแถบยาวและเคลือบสารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับแสงเอาไว้ นับว่าเซลลูลอยด์เป็นพลาสติกที่ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดให้เติบโตในเวลาที่เหมาะเจาะทีเดียว

เซลลูลอยด์เป็นพลาสติกที่ขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูดให้เติบโต

3. เบกาไลต์ (Bakelite) พลาสติกอเนกประสงค์
ในปี 1907 มีการคิดค้นพลาสติกที่มีประโยชน์ใช้สอยได้หลายพันรูปแบบ และถูกนำมาผลิตเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในเวลาต่อมา ซึ่งก็คือเบกาไลต์หรือเบกไลต์นั่นเอง

เบกาไลต์เป็นชื่อการค้าของสารฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์เรซิน ซึ่งจะแข็งตัวเมื่อร้อน เบกาไลต์มีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อแข็งแต่เปราะแตกง่าย มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ทำให้มีการนำมาผลิตเป็นโคมไฟ ปลั๊กไฟ และเต้าเสียบอย่างแพร่หลาย

4. พลาสติกขับเคลื่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 นักปิโตรเคมีได้คิดค้นพลาสติกชนิดใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ซึ่งรวมถึงพลาสติกยอดนิยมอย่างพอลิเอทิลีน (Polyethylene - PE) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองด้วย

พอลิเอทิลีนถูกใช้เป็นฉนวนหุ้มสายไฟฟ้ายาวในระบบเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งระบบนี้ช่วยคุ้มกันกองเรือลำเลียงของสหราชอาณาจักรในมหาสมุทรแอตแลนติก และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อผลแพ้ชนะในการรบ

พลาสติกชนิดอื่นที่คิดค้นขึ้นในยุคนี้ ถูกนำมาใช้งานด้านการทหารด้วยหลายชนิด เช่นมีการนำไนลอนมาใช้แทนผ้าไหมในร่มชูชีพ มีการใช้อะคริลิกทำกระจกหน้าต่างของป้อมปืนบนเครื่องบินทิ้งระเบิด หมวกเหล็กทหารที่เป็นโลหะก็ถูกแทนที่ด้วยหมวกพลาสติกในที่สุด ในยุคนี้อุตสาหกรรมพลาสติกขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด

5. พลาสติกช่วยบันทึกเสียงดนตรี
เมื่อกระบอกเสียง (Phonograph cylinder record) ที่ทำจากไขผึ้งของโทมัส เอดิสัน ถูกผลิตขึ้นใหม่ด้วยพลาสติก ทำให้การบันทึกเสียงและบรรเลงดนตรีมีคุณภาพดีขึ้นอย่างมาก ทั้งตัวกระบอกเสียงก็มีความทนทานเพิ่มขึ้นด้วย ในภายหลังยังมีการผลิตแผ่นเสียงไวนิล เทปคาสเซต และแผ่นซีดีออกมา ซึ่งล้วนทำจากพลาสติกทั้งสิ้น ทำให้อุตสาหกรรมความบันเทิงอย่างดนตรีเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้ง่าย

อุปกรณ์การแพทย์พลาสติกถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล เนื่องจากสามารถใช้แล้วทิ้งหรือฆ่าเชื้อได้ง่าย

6. พลาสติกทำให้โรงพยาบาลมีสุขอนามัยมากขึ้น
เมื่อนักประดิษฐ์เติมสารเคมีบางอย่างลงในพลาสติก ทำให้วัสดุใหม่ที่ได้มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่น เหมาะกับการนำมาใช้งานทางการแพทย์ เช่น ถุงใส่เลือด หลอดฉีดยาพลาสติก และท่อพลาสติก ถูกนำมาใช้งานในโรงพยาบาลแทนขวดแก้ว หลอดแก้ว และท่อยาง เนื่องจากสามารถใช้แล้วทิ้งหรือฆ่าเชื้อได้ง่าย ทนทานไม่เปราะแตก

7. พลาสติกใช้แล้วทิ้งได้สะดวก
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง วงการอุตสาหกรรมพลาสติกขยายตัวขึ้นอย่างมาก และต้องการจะก้าวไปสู่การผลิตพลาสติกปริมาณมหาศาลเพื่อให้มีราคาถูกลง

แนวคิดนี้นำไปสู่ "การปฏิวัติพลาสติก" ซึ่งเร่งการผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมาทดแทนข้าวของเครื่องใช้ประจำวัน เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ โดยหวังว่าจะให้ความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคด้วยการลดภาระงานบ้านอย่างการล้างจานลง แต่จากจุดนี้เองที่วัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งแบบสิ้นเปลืองและก่อมลภาวะได้เริ่มต้นขึ้น

ผู้คนพากันติดอกติดใจพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งได้สะดวก จนก่อให้เกิดมลภาวะตามมา

8. พลาสติกช่วยลดอาหารเน่าเสียเหลือทิ้ง
การขนส่งอาหารจากแหล่งผลิตที่อยู่ห่างไกลมายังตลาดหรือบ้านเรือน ทำให้เกิดการเน่าเสียและอาจต้องทิ้งอาหารนั้นไปจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย แต่ด้วยการคิดค้นบรรจุภัณฑ์พลาสติก พืชผักผลไม้ นม หรือเนื้อสัตว์ จะถูกเก็บรักษาให้อยู่ในสภาพดีได้ยาวนานขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่น่าชื่นชมของพลาสติกได้กลายเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมไปในที่สุด เมื่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลล้นทะลักลงสู่มหาสมุทร แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ไม่เว้นแม้แต่ร่องลึกก้นสมุทรและส่วนห่างไกลที่สุดของทวีปแอนตาร์กติกา โดยต้องใช้เวลานานนับร้อยปีกว่าพลาสติกเหล่านี้จะย่อยสลาย

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5-8-%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A9%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/international-44537467
Hits 671 ครั้ง