แผนที่จีโนมข้าวสาลี: เทคโนโลยีผลิตอาหารเลี้ยงโลก

วันที่เผยแพร่: 
Mon 17 September 2018

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติประสบความสำเร็จในการทำแผนที่จีโนม หรือข้อมูลพันธุกรรมทั้งหมดของข้าวสาลี ซึ่งจะช่วยเปิดทางไปสู่การดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อพัฒนาข้าวสาลีพันธุ์ใหม่ ๆ ที่จะให้ผลผลิตมากขึ้น มีความทนทานต่อโรคต่าง ๆ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอนาคต

ทีมนักวิจัยใช้เวลาถึง 13 ปี ในการจัดลำดับชุดพันธุกรรมข้าวสาลีพันธุ์ Triticum aestivum ที่เพาะปลูกกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีโนมข้าวสาลีมียีนทั้งหมด 107,891 ตัว โดยจีโนมที่มีความซับซ้อนมีอยู่ 16,000 ล้านคู่เบสของโครงสร้างของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งใหญ่กว่าจีโนมของมนุษย์กว่า 5 เท่า

 

การทำแผนที่จีโนมนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวสาลีใหม่ ๆ เพราะจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคัดเลือกพันธุ์ ควบคุมการเติบโต ดัดแปลงยีนให้ทนต่อความร้อน รวมทั้งเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของสารอาหารในข้าวสาลี

ข้าวสาลีถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแหล่งพลังงานราว 20% ของพลังงานที่มนุษย์บริโภคทั้งหมด องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ชี้ว่ายอดการผลิตข้าวสาลีจะต้องเพิ่มขึ้นอีก 60% ภายในปี 2050 เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประชากรโลก

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B5-%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.bbc.com/thai/features-45523853
Hits 355 ครั้ง