ในอนาคต ความทรงจำคนเราอาจถูก "แฮก" ได้ เราจะป้องกันความเสี่ยงนั้นได้หรือเปล่า ?

วันที่เผยแพร่: 
Wed 27 February 2019

จะเป็นอย่างไรหากคนเราสามารถย้อนกลับไปดูเศษเสี้ยวความทรงจำจากช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ เหมือนที่เราเลื่อนดูรูปในอินสตาแกรม จะเป็นอย่างไร หากในโลกอนาคต แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงความทรงจำในหัวคุณและขู่ลบล้างข้อมูลทุกอย่างเพื่อรีดไถเงิน

นี่อาจจะฟังดูเกินจริง แต่โลกอนาคตที่ว่าอาจมาถึงเร็วกว่าที่คุณคิด

ผ่าสมอง

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านประสาทวิทยา เราอาจสามารถปรับปรุงพัฒนาระบบความทรงจำของมนุษย์ได้เร็ว ๆ นี้ และอีกไม่กี่ทศวรรษ เราอาจสามารถปรับเปลี่ยน และเขียนความทรงจำในหัวเราขึ้นมาใหม่ได้

การผ่าตัดฝังอุปกรณ์พิเศษในสมองมีแนวโน้มจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีสำคัญสำหรับศัลยแพทย์ทางประสาท

การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation หรือ DBS) มีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยหลากหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นอาการสั่น โรคพาร์กินสัน หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ขณะนี้ มีผู้ป่วยที่รักษาด้วยเทคโนโลยีนี้แล้วราว 1.5 แสนคน ทั่วโลก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังอาจทำให้สามารถควบคุมโรคเบาหวานและโรคอ้วนด้วยวิธีใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

ขณะนี้ มีการค้นคว้าวิจัยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเตรียมนำเทคโนโลยีนี้ไปรักษาโรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม โรคทูเร็ตต์ (ความผิดปกติของระบบประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างกล้ามเนื้อกระตุกซ้ำ ๆ กะพริบตาและทำเสียงออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้) รวมถึงอาการทางจิตประเภทอื่น ๆ

หน่วยงานค้นคว้าด้านเทคโนโลยีเพื่อการทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ หรือ The US Defense Advance Research Projects Agency (DARPA) มีโครงการพัฒนาระบบวงจรประสาทไร้สายเพื่อนำไปผ่าตัดปลูกฝังเพื่อช่วยฟื้นความทรงจำสำหรับทหารที่สมองได้รับบาดเจ็บ
ความทรงจำพิเศษ

ลอรี ไพครอฟต์ นักวิจัยประจำ Nuffield Department of Surgical Sciences ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด บอกว่า จะไม่แปลกใจเลย หากมีการผ่าตัดปลูกฝังเพื่อช่วยเสริมความทรงจำในเชิงพาณิชย์ภายเวลา 10 ปีข้างหน้า

ในอีก 20 ปี เทคโนโลยีอาจพัฒนาถึงขั้นที่สามารถจับและกระตุ้นสัญญาณที่ใช้ในการสร้างความทรงจำได้ ภายในกลางศตวรรษนี้ เราอาจจะสามารถควบคุมเปลี่ยนแปลงความทรงจำของเราก็ได้

แฮกความทรงจำ

อย่างไรก็ตาม ไพครอฟต์ บอกว่า อาจมีผลกระทบ "ร้ายแรง" มากหากอำนาจการควบคุมความทรงจำตกอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ปรารถนาดี ลองจินตนาการว่าจะเป็นอย่างไร หากแฮกเกอร์สามารถเข้าไปตั้งค่าในสมองของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันได้ และสามารถควบคุมความคิดและการกระทำ และแม้กระทั่งทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพาตชั่วคราวได้

นอกจากนี้ แฮกเกอร์ยังอาจสามารถขู่ลบล้างความทรงจำของเหยื่อได้เพื่อรีดไถเงิน

หากนักวิจัยสามารถถอดรหัสและทำความเข้าใจสัญญาณประสาทในระบบความจำของเราได้ เราไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงอะไรบ้าง อาทิ แฮกเกอร์ต่างชาติอาจจะพยายามสืบค้นข่าวกรองด้วยการเจาะระบบข้อมูลของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกในกรุงวอชิงตัน ดีซี

จากการทดลองในปี 2012 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ สามารถรู้ถึงข้อมูลส่วนตัวอย่างเช่น บัตรธนาคารและรหัสผ่าน ด้วยการสังเกตการณ์คลื่นสมองของคนที่ใส่หูฟังสำหรับเล่นเกม

ควบคุมอดีต

ดิมิทรี กาลอฟ นักวิจัยจาก Kaspersky Lab บริษัทเพื่อความมั่นคงทางไซเบอร์ บอกว่า การแฮกสมอง และการปรับเปลี่ยนความทรงจำอย่างมุ่งร้าย เป็นเรื่องท้าทายต่อความปลอดภัยของคน และบางกรณีเป็นลักษณะที่ใหม่และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นักวิจัยจาก Kaspersky และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ร่วมมือกันในโครงการที่มุ่งหาความเสี่ยง และวิธีการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาศัยเทคโนโลยีในลักษณะนี้ซึ่งกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ

รายงานการวิจัยของพวกเขาที่มีชื่อว่า "The Memory Market: Preparing for a future where cyberthreats target your past" ระบุว่า ด้วยระดับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งก้าวหน้าไปกว่าที่คนทั่วไปตระหนัก มีความขัดแย้งที่ชัดเจนระหว่างความปลอดภัยในเชิงสุขภาพและเชิงข้อมูลของคนไข้

รายงานฉบับนี้ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่เราจะจินตนาการถึงยุคที่รัฐบาลเผด็จการพยายามจะเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ด้วยการไปแทรกแซงความทรงจำของคน หรือแม้กระทั่งป้อนความจำใหม่ ๆ เข้าไปในสมองคน

นายกาลอฟ บอกว่า หากเรายอมรับว่าจะมีเทคโนโลยีในลักษณะแบบนี้ เราอาจสามารถควบคุมการกระทำของคนได้ หากคนประพฤติในทางที่เราไม่อยากให้พวกเขาทำ เราสามารถหยุดพวกเขาได้ด้วยการกระตุ้นสมองในส่วนที่ทำให้เกิดอารมณ์ในเชิงลบได้

ในทางเดียวกัน เราก็สามารถส่งเสริมพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยการกระตุ้นสมองในส่วนที่ทำให้เกิดความสุขได้

เจาะข้อมูล

การแฮกข้อมูลจากเครื่องมือทางการแพทย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2017 ทางการสหรัฐฯ เรียกคืน อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ช่วยให้อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้นและสม่ำเสมอ หรือ pacemaker 465,000 เครื่อง หลังจากพิจารณาว่าอุปกรณ์เหล่านี้เสี่ยงต่อการโจมตีทางไซเบอร์

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA ระบุว่า ผู้ไม่ปรารถนาดีสามารถเข้าไปแทรกแซงเครื่องมือนี้ได้ โดยอาจปรับเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจคน หรือทำให้แบตเตอรีหมด ซึ่งทั้งสองกรณีอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ บอกว่า เมื่อเครื่องมือทางการแพทย์มีการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเสี่ยงที่จะมีการโจมตีทางไซเบอร์ก็มีมากขึ้นตาม
การป้องกันทางไซเบอร์

เป็นเรื่องดีที่การออกแบบเครื่องมือจะสามารถลดความเสี่ยงส่วนมากได้ แต่นายกาลอฟ บอกว่ามาตรการการรักษาความปลอดภัยที่สุดคือการสอนให้แพทย์และคนไข้ระมัดระวัง อาทิ ตั้งรหัสผ่านที่มีความซับซ้อนสูง

ไพครอฟต์ ระบุว่า ในอนาคต การผ่าตัดปลูกฝังในสมองจะซับซ้อนขึ้น และถูกนำไปใช้รักษาอาการหลากหลายขึ้น และจะมีหลายปัจจัยที่ดึงดูดและทำให้การโจมตีทางไซเบอร์ง่ายขึ้น หากเราไม่พัฒนาวิธีแก้ปัญหาสำหรับการปลูกฝังสมองในรุ่นแรก ความปลอดภัยสำหรับผู้เข้ารับการผ่าตัดในรุ่นต่อ ๆ ไปก็จะน้อยลง และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นจะทำให้ผู้โจมตีไซเบอร์จะมีความได้เปรียบมากกว่าเดิมอีก

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%95-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%AE%E0%B8%81-%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2
Hits 288 ครั้ง