“อีโคไล” ภัยร้ายที่มากับอาหาร

วันที่เผยแพร่: 
Wed 14 February 2018

เชื้ออีโคไล (E. coli)  เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง  ปกติพบอาศัยอยู่ในทางเดินอาหารส่วนลำไส้ของคนและสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และนก ซึ่งเชื้ออีโคไลนี้มีอยู่หลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์นั้นมักไม่ก่อให้เกิดโรค สายพันธุ์ที่ก่อโรคในคนได้ มีตั้งแต่ที่ก่อโรคไม่รุนแรง เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และอาหารเป็นพิษ ไปจนถึงที่ก่อโรครุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบและติดเชื้อในกระแสเลือด สำหรับสายพันธุ์ของเชื้ออีโคไล กลุ่มอีเฮค (EHEC) หรือเอนเตอโรฮีโมราจิคอีโคไล (Enterohemorrhagic E. coli) ที่พบกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในแถบยุโรปขณะนี้เป็นกลุ่มที่ก่อโรคในทางเดินอาหารที่สามารถก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งก่อนหน้านี้เชื้ออีเฮคเคยระบาดมาแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  

โดยปกติแล้วจะพบเชื้ออีโคไลได้ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในมูลสัตว์ และส่วนใหญ่แพร่สู่คนได้ทางการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ พบเชื้อได้ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น เนื้อหรือผักดิบ ปรุงไม่สุก รวมถึงนมและน้ำที่ไม่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้การปนเปื้อนของเชื้อโรคจากอุจจาระสู่อาหารและน้ำ อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเตรียมและการปรุงอาหารได้เช่นกัน

ลักษณะอาการของผู้ที่ได้รับเชื้อกลุ่มอีเฮคมีความหลากหลาย  ตั้งแต่ท้องร่วงเป็นน้ำที่ไม่รุนแรง หายได้เอง จนทำให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบเป็นแผล ถ่ายอุจจาระเหลวปนมูกเลือด ปวดเกร็งท้อง  อาเจียน  อาจมีไข้ร่วมด้วย เนื่องจากเชื้อสามารถทนความเป็นกรดได้สูง จึงทำให้เชื้อผ่านบริเวณกระเพาะอาหารซึ่งเป็นกรดไปก่อโรคในลำไส้ได้  คุณสมบัติในการก่อโรคที่สำคัญของเชื้อกลุ่มอีเฮค คือสามารถสร้างและปล่อยสารพิษ  ชิกา (Shiga toxin) ออกมา สารพิษชิกาจะสามารถเข้าสู่กระแสเลือด  และไปทำลายเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด  ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซีดและเลือดออกง่าย  รวมถึงทำลายเซลล์ไต ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

ยิ่งกว่านั้นยังพบว่าปริมาณเชื้อกลุ่มอีเฮคที่ก่อโรคได้นั้นอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 10 - 100 เซลล์เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเชื้อก่อโรคในทางเดินอาหารทั่วไป มักต้องมีเชื้อในปริมาณมากกว่า 1 ล้านเซลล์ สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อกลุ่มอีเฮคนี้  เฉลี่ยประมาณ  3 - 4 วัน (อาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 2 วันถึงหลายสัปดาห์) ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้น้ำเกลือทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย  ร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อหากมีอาการรุนแรง  ผู้ป่วยที่มีอาการท้องร่วงรุนแรง หรือมีอาการปวดเกร็งท้องร่วมกับถ่ายปนมูกเลือด ควรรีบปรึกษาแพทย์ 

แม้ขณะนี้จะยังไม่พบเชื้ออีโคไลกลุ่มอีเฮคระบาดในประเทศไทย และพบก่อโรคในคนไทยได้น้อยมาก แต่ควรระมัดระวังและเตรียมพร้อม การป้องกันที่ดีที่สุด คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกถูกสุขลักษณะ เนื่องจากเชื้อจะถูกทำลาย ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ขึ้นไป และล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หากสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง รวมทั้งรักษาสุขอนามัยเรื่องอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ และน้ำดื่ม ตลอดจนความสะอาดของภาชนะที่ใช้ เพื่อลดการติดเชื้อหรือการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E2%80%9C%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%A5%E2%80%9D-%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3
เจ้าของข้อมูล: 
https://www.sanook.com/health/9741/
Hits 575 ครั้ง