40 ปีแห่งยานวอยเอเจอร์ : นักสำรวจผู้เดินทางได้ไกลที่สุด

วันที่เผยแพร่: 
Wed 25 October 2017

โครงการวอยเอเจอร์ (Voyager program) เป็นโครงการที่ส่งยานอวกาศสองลำ ชื่อ วอยเอเจอร์ 1 และ วอยเอเจอร์ 2  ออกไปสำรวจระบบสุริยะชั้นนอก โดยทั้งสองลำนี้ถูกส่งออกนอกโลกในปี ค.ศ. 1977

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ยานทั้งสองถูกส่งในปีนั้นคือ การที่ดาวเคราะห์ทั้ง 4 ดวงได้แก่ ดาวพฤหัสฯ ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน อยู่ในตำแหน่งที่ยานวอยเอเจอร์ 2  สามารถอาศัยเทคนิคที่เรียกว่า Gravity Assist ซึ่งเป็นใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของทั้ง 4 ดวงในการ 'เหวี่ยง' ตัวยานเพื่อเพิ่มความเร็วได้ การเดินทางของยานอวกาศลำนี้จึงถูกเรียกว่า The Grand Tour ซึ่งการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 175 ปี  

       จนถึงวันนี้ ยานวอยเอเจอร์ 2 เป็นเพียงยานอวกาศลำเดียวเท่านั้นที่เดินทางไปใกล้ดาวยูเรนัสและนปจูนเพื่อทำการสำรวจอย่างใกล้ชิด

        ส่วนยานวอยเอเจอร์ 1 เดินทางไปศึกษาดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์ที่มีชั้นบรรยากาศปกคลุมทำให้ใช้แรงโน้มถ่วงจากเพียงดาวพฤหัสฯและเสาร์ในการเพิ่มความเร็ว

        ที่ผ่านมา ยานอวกาศทั้งสองลำได้เก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์มากมายมหาศาลแล้วส่งกลับมายังโลกเราทำให้เกิดการค้นพบมากมาย ได้แก่ การระเบิดของภูเขาไฟบนดวงจันทร์ไอโอซึ่งเป็นบริวารของดาวพฤหัสฯ , ไอโอทอรัส (Io Torus) ซึ่งเป็นโครงสร้างของพลาสมารูปโดนัทซึ่งวางตัวอยู่รอบๆดาวพฤหัสฯในแนวการโคจรของดวงจันทร์ไอโอ โครงสร้างพลาสมาดังกล่าวเกิดจากสสารที่ถูกพ่นออกมาจากภูเขาไฟของไอโอซึ่งส่งผลต่อสนามแม่เหล็กรอบๆดาวพฤหัสฯ , ค้นพบมหาสมุทรที่อยู่ใต้เปลือกของดวงจันทร์ยูโรปา, ค้นพบดวงจันทร์บางดวงของดาวเสาร์ , พบว่าชั้นบรรกาศของดวงจันทร์ไททันมีความหนาและประกอบไปด้วยไนโตรเจน รวมทั้งอาจมีเมฆและฝนที่เป็นมีเทน , พายุบนดาวเนปจูนที่มีชื่อว่า Great Dark spot ซึ่งพัดด้วยความเร็ว 1,600 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ฯลฯ

        ในปี ค.ศ. 2017 นี้ เป็นปีที่ยานทั้งสองถูกส่งออกนอกโลกครบรอบ  40 ปีแล้ว แต่เชื่อไหมว่าจนถึงวันนี้ ยานวอยเอเจอร์ทั้งสองลำยังคงทำภารกิจอยู่! 

        ตอนนี้ยานวอยเอเจอร์ 2 อยู่ที่ Heliosheath ซึ่งเป็นบริเวณที่ลมสุริยะถูกลมจากดาวฤกษ์อื่นๆพัดต้านจนเริ่มเคลื่อนที่ช้าลง โดยลมสุริยะจะไปหยุดที่ Heliopause

        ส่วนยานวอยเอเจอร์ 1 ไปได้ไกลกว่านั้น มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่เดินทางออกนอกโลกไปได้ไกลที่สุด โดยในเดือนสิงหาคม ปีค.ศ. 2017 มันเดินทางออกนอกระบบสุริยะ(ห่างจากโลก 139.46 AU)มาถึงบริเวณที่เรียกว่า ที่ว่างระหว่างดาวฤกษ์ (Interstellar Space) ซึ่งอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวฤกษ์อื่นๆแล้ว

        ขณะนี้ยานอวกาศทั้งสองลำเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสสารและรังสีคอสมิกในดินแดนไกลโพ้นที่ไม่เคยมียานลำไหนเดินทางไปแล้วส่งกลับมาให้นักดาราศาสตร์บนโลกทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ที่ด้านนอกของยานทั้งสองลำมีการติดแผ่นเสียงทองคำซึ่งบรรจุข้อมูลทั้งภาพและเสียงที่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งวัฒนธรรมที่หลากหลายของมนุษย์เราไว้ในนั้นด้วย 

        ในอนาคตอีก 40,000ปีข้างหน้า ยานวอยเอเจอร์ 1 จะเดินทางเข้ามาอยู่ที่ระยะห่างราว 1.6 ปีแสงจากดาวฤกษ์  Gliese 445 และในอีก 296,000 ปีข้างหน้า ยานวอยเอเจอร์ 2 จะเดินทางมาอยู่ในระยะห่างจากดาวซิริอุส 4.6 ปีแสง

        ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจมีสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญหาจากดาวอื่นหรือแม้แต่มนุษย์ในอนาคตที่เดินทางมาพบสิ่งที่บรรพบุรุษของตนเคยสร้างแล้วส่งออกมาก็ได้

        อย่างไรก็ตาม ยานทั้งสองลำนี้ไม่สามารถทำงานได้ตลอดไป นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าพลังงานของพวกมันอาจหมดลงในปี ค.ศ. 2025

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/40-%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%88%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94
เจ้าของข้อมูล: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/3348-40-years-voyager
Hits 1,276 ครั้ง