ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

วันที่เผยแพร่: 
Fri 22 May 2020

ความหลากหลายทางชีวภาพคือชีวิต ชีวิตของพวกเราทุกคน
Biodiversity is life, Biodiversity is our life

“เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความอยู่รอดของเรานั้นยึดโยงอยู่กับความหลากหลายทางชีวภาพอย่างแยกไม่ออก”

ในปี ค.ศ.1992 ได้มีการประชุมผู้นำโลกครั้งใหญ่ คือ การประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วย สิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือเรียกอีกชื่อว่า “เอิร์ทซัมมิท” ณ เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล การประชุมครั้งนั้นทำให้เกิดความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีเป้าหมายในการควบคุมและลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ อันเป็นความตกลงระดับโลกฉบับแรกที่กล่าวถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งนานาประเทศต่างก็ให้การยอมรับกันถ้วนหน้า โดยมีรัฐบาลของกว่า 150 ประเทศร่วมลงนามรับรอง ณ การประชุมดังกล่าว ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ต่อมา ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาฉบับนี้ เมื่อ 31 ตุลาคม ค.ศ.2003 และมีผลรับรองเมื่อ 29 มกราคม ค.ศ.2004 เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาในลำดับที่ 188 ปัจจุบันมีประเทศร่วมเป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ทั้งหมด 193 ประเทศ

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความตกลงระหว่างประเทศฉบับแรกที่ตระหนักว่า การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นเป็น “ความตระหนักร่วมกันของมวลมนุษยชาติ” และเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จำเป็นต้องมีในกระบวนการพัฒนา มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ได้แก่

(1) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

(2) การใช้ประโยชน์จากองค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

(3) การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม

ในปีนี้ ผู้คนมีความสนใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ปี ค.ศ.2010 เป็น ปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (2010 International Year of Biodiversity) เพื่อเฉลิมฉลองให้แก่สรรพชีวิตบนโลก และระลึกถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อการดำรงชีวิตของเรา รวมทั้งเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปกป้องคุ้มครองความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตบนโลก ในส่วนของประเทศไทย ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็เห็นควรประกาศให้ปี พ.ศ.2553 เป็นปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยที่สอดรับกับปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพพอดี นั่นคือ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันนานาชาติเพื่อการสำรวจสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (International Institute for Species Exploration : IISE) ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการนักอนุกรมวิธานนานาชาติ ได้ประกาศรายชื่อสุดยอดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ 10 ชนิด จากจำนวนนับพันชนิดที่ถูกสำรวจพบในรอบปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งในนั้น คือ ทากทะเลชนิดใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า “ไอ้เท่ง” ซึ่งมีการสำรวจพบเมื่อปีที่แล้ว บริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนอ่าวปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช โดยคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทากทะเลชนิดนี้มีขนาดประมาณ 6-17 มิลลิเมตร และมีลำตัวสีดำ คณะนักวิจัยจึงตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า ไอเทง เอเตอร์ (Aiteng ater) ซึ่งเมื่ออ่านแล้วหลายคนอาจรู้สึกคุ้น ๆ เพราะชื่อสกุล Aiteng นั้น ตั้งตามชื่อตัวหนังตะลุงของปักษ์ใต้ที่ชื่อ "ไอ้เท่ง" นั่นเอง ส่วนคำว่า ater นั้นมาจากภาษาละติน หมายถึง สีดำ สาเหตุที่สิ่งมีชีวิตชนิดนี้ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 สุดยอดสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เนื่องจาก การค้นพบครั้งนี้ทำให้เกิดการจัดจำแนกวงศ์ของสิ่งมีชีวิตใหม่ คือ ไอเทงกิเด (Aitengidae) และแม้ว่าทากทะเลชนิดนี้จะมีลักษณะหน้าตาคล้ายกับทากทะเลทั่วไป แต่มันกลับกินแมลงในระยะดักแด้เป็นอาหาร ซึ่งแตกต่างจากทากทะเลวงศ์อื่น ๆ ที่มักกินสาหร่ายเป็นอาหาร และมันยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ คล้ายกับสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ซึ่งความพิเศษนี้พบได้น้อยมากในทากทะเลที่มีการค้นพบหรือมีการศึกษาอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หรือ ทรัพยากรชีวภาพ (Bioresource) เป็นฐานสำคัญของการเกษตร ยารักษาโรค และต่อเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ในพื้นที่ป่าตามธรรมชาติในประเทศไทยมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุผลหลายประการได้แก่
1. ประเทศไทยตั้งอยู่ในโซนร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อยและอยู่ติดทะเล จึงมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดตลอดปี อย่างไรก็ตามสภาพภูมิอากาศจะแตกต่างกันบ้างในภาคต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของภาคและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ แต่โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วมากเหมือนในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จึงไม่เป็นปัจจัยจำกัดในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต

2. มีความแตกต่างกันของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่น ภาคเหนือเหนือเป็นภูเขาสูง อุณหภูมิต่ำในฤดูหนาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบขนาดใหญ่มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ภาคใต้เป็นเขาสูงสลับพื้นที่ราบ บริเวณมีมรสุมพัดผ่านตลอดทั้งปี บางพื้นที่ในภาคตะวันออกภาคกลางและและภาคใต้ที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำเป็นต้น จากสภาพที่มีความหลากหลายของภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่ที่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำ ทะเลที่ต่างกัน มีปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและปัจจัยอื่นๆ เช่นสภาพพื้นดินที่แตกต่างกัน ได้เอื้ออำนวยให้เกิดความหลากหลายของประเภทของป่าตามธรรมชาติเป็น
1) ป่าไม่ผลัดใบเช่น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าชายเลน
2) ป่าผลัดใบเช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ
3) ป่าที่มีลักษณะพิเศษเช่นป่าชายหาด ป่าเขาหินปูน เป็นต้น ซึ่งป่าแต่ละประเภทจะมีลักษณะที่เฉพาะตัวและมีสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัว
อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน

3. ประเทศไทยอยู่ในบริเวณศูนย์กลางที่มีการกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์ กล่าวคือเป็นเขตซ้อนทับกันของกลุ่มพรรณพฤกษชาติ (Floristic Region) ถึง 3 กลุ่มคือ
กลุ่มอินโด - เบอร์มีส (Indo-Burmese elements)
กลุ่มอินโด-ไชนิส (Indo-Chinese elements)
กลุ่มมาเลเซีย (Malaysian elements)
ในส่วนของสัตว์ป่า ประเทศไทยถือเป็นจุดซ้อนทับของเขตสัตวภูมิศาสตร์ (Zoological Region) 3 เขตเช่นกันคือ
เขตชิโน-หิมาลัย (Shino-Himalayan)
เขตอินโด-ไชนีส (Indo-Chinese)
เขตชุนดา (Sundaic)

มนุษย์สามารถได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางธรรมชาติในหลายๆ ด้าน ดังนี้

1. ประโยชน์ด้านการบริโภคใช้สอย หมายถึงประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพที่เป็นทรัพยากร ทางธรรมชาติอันเอื้อต่อปัจจัยในการดำรงชีวิตให้แก่มนุษย์ เช่น ด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เป็นต้น

- ด้านการผลิตอาหาร มนุษย์รับอาหารจากพืชและสัตว์ พืชไม่น้อยกว่า 5,000 ชนิดที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้
และไม่น้อยกว่า 150 ชนิดที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกเป็นอาหารของมนุษย์และสัตว์ แต่มีเพียง 20 ชนิดเท่านั้นที่ใช้เป็นอาหารหลักของประชากรโลก คือ พวกแป้ง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี มันฝรั่ง ความหลากหลายทางธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้เป็นแหล่งอาหารจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ถูก นำมาใช้ ในการปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

- ด้านการแพทย์ มีการใช้ประโยชน์จากพืชและสัตว์ในทางการแพทย์มากมายประมาณร้อยละ 25 ของยารักษาโรคผลิตขึ้นมาจาก พืชดั้งเดิม เช่น การนำพืชพวก ชินโคนา (cinchona)
ผลิตยาควินินที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย

2. ประโยชน์ด้านการผลิต ด้านการอุตสาหกรรม ผลผลิตของป่าที่นำมาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะโดยตรง เช่น การป่าไม้ ของป่า หรือโดยอ้อม เช่นการสกัดสารเคมีจากพืชในป่า

3. ประโยชน์อื่นๆ อันได้แก่คุณค่าในการบำรุงรักษาระบบนิเวศให้สามารถดำรงอยู่ได้ และดูแลระบบนิเวศ ให้คงทน เช่น การรักษาหน้าดินการตรึงไนโตรเจนสู่ดิน การสังเคราะห์พลังงานของพืช การควบคุมความชื้น เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นประโยชน์ที่สำคัญ ตลอดทั้งในด้านนันทนาการและการท่องเที่ยวของมนุษย์

ที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/593-biodiversity-is-life

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
Hits 10,605 ครั้ง