วันคนพิการสากล

วันที่: 
03 December

   เพื่อสร้างกระแสความเข้าใจต่อสิทธิของคนพิการ อันเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ถูกละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน 
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ ปี 2524 เป็น "ปีคนพิการสากล" ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักถึงศักดิ์ศรี
แห่งความเป็นมนุษย์ของคนพิการ และตื่นตัวในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ รวมถึงสนับสนุน
การสร้างเสริมศักยภาพของคนพิการ การเปิดโอกาสและสนับสนุนคนพิการให้สามารถเข้าถึงและใช้ประ
โยชน์จากทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป เพื่อนำไปสู่การดำรงชีวิตด้วยการพึ่งตนเองมากที่สุด

   ในปี 2525 องค์การสหประชาชาติ จึงได้สถาปนาให้วันที่ 3 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันคนพิการสากล" 
เพื่อรำลึกถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2525 ที่สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติรับรองแผนปฏิบัติการโลก
ว่าด้วยเรื่องคนพิการ (World Programme of Action concerning Disabled Persons) พร้อมทั้งสนับสนุน
ให้ประเทศต่าง ๆ เฉลิมฉลองวันคนพิการสากลทุกปี เพื่อขับเคลื่อนปฏิบัติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของ
คนพิการอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมจัดกิจกรรมรณรงค์ให้เกิดการส่งเสริม
และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยอยู่บนฐานของสิทธิอย่างเป็นรูปธรรม และได้มาตรฐานในระดับสากล 
อนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อวันคนพิการในแต่ละปีด้วย เช่น อนุสัญญาว่าด้วย
สิทธิของคนพิการ ศักด์ศรีและความยุติธรรมเพื่อคนทั้งมวล ทุกเรื่องคนพิการต้องมีคนพิการ เป็นต้น

   ทั้งนี้ จากการสำรวจทางสถิติขององค์การสหประชาชาติพบว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียและแปซิฟิกนี้มี
จำนวนประชากรที่เป็นบุคคลพิการมากที่สุดในโลก ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของความยากจน
ความรุนแรงของภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุและผลของสงคราม และด้วยความพิการทุพพลภาพนี้เอง
ที่เริ่มแพร่มากขึ้นทุกขณะ ทางองค์การสหประชาชาติจึงเร่งตระหนักที่หาหนทางวิธีการแก้ไขป้องกันโดยเร็ว 
เพื่อที่จะลดจำนวนของผู้พิการลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้

 นอกจากงานในด้านสังคมแล้ว ในด้านอาชีพก็เช่นกัน จึงได้สนับสนุนคนพิการในด้านต่าง ๆ เช่น งานหัตถกรรม 
เป็นต้น ขายลอตเตอรี่ พนักงานรับโทรศัพท์ งานช่างต่าง ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างกระจก เป็นต้น ทำให้คนพิการได้มีโอ
กาสประกอบอาชีพต่าง ๆ ได้มากขึ้น

   ส่วนงานที่เกี่ยวกับการศึกษานั้น นานาชาติก็มิได้ละเลย โดยให้โอกาสในการศึกษาของคนพิการด้านต่าง ๆ 
เช่น การให้ทุนเกี่ยวกับการศึกษาแก่คนพิการ และการผลิตอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่คนพิการต่าง ๆ เช่น 
การผลิตเครื่องเรียงสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์และสแกนเนอร์ของคนตาบอด การผลิตลูกคิดสเลตและสไตลัส
สำหรับคนตาบอด ทำให้คนตาบอดศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีการจัดแปลหนังสือเรียน
ของคนปกติมาพิมพ์เป็นหนังสือเรียน เป็นตัวอักษรเบรลล์แก่คนตาบอดอีกด้วย 

   ทางด้านกีฬาก็ได้มีการส่งเสริมและให้โอกาสคนพิการได้แสดงความสามารถ ตั้งแต่การแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 
ระดับโลก ตามลำดับ ซึ่งนานาประชาชาติได้ให้โอกาสในด้านกีฬาต่าง ๆ เช่น การจัดงานแข่งขันเฟสปิกเกมส์ 
การว่ายน้ำคนพิการ วิ่งมาราธอนคนพิการ

   สำหรับการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ (Fespic Games-FarEast and South Pacific Games for the Disabled)
นั้น เป็นกีฬาของคนพิการในประเทศที่อยู่ในตะวันออกไกลและแปซิฟิกตอนใต้ ได้จัดเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น
เมื่อปี 2518 มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน 973 คน จาก 18 ประเทศ

    ต่อมาในปี 2532 ประเทศญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 5 อีก โดยมีผู้เข้าร่วมแข่งขัน
เพิ่มมากขึ้นเป็น 1,700 คน จาก 41 ประเทศ ความสำเร็จในการจัดครั้งนั้น เป็นผลให้รัฐบาลของประเทศที่เข้า
ร่วมการแข่งขันตระหนักว่า การเล่นกีฬาเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนี่งที่ช่วยให้คนพิการได้เพิ่ม
ประสบการณ์ชีวิตด้านสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดการฝึกอบรมผู้นำด้านกีฬาและผู้ฝึกสอน 
เพื่อส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ด้านกีฬาของคนพิการ