ลูมินอล ผู้ช่วยเปิดเผยเงื่อนงำอำมหิต

ถึงแม้ว่าในเหตุการณ์อาชญากรรมหลายคดี ผู้ต้องหาจะพยายามปิดบังอำพรางหลักฐาน ที่จะสืบสาวมาถึงตัวเองได้ เช่น คราบเลือดในสถานที่เกิดเหตุมักถูกชะล้างเพื่อบิดเบือน และปกปิดความผิด แต่นักนิติวิทยาศาสตร์ก็สามารถตรวจพบคราบเลือดในที่เกิดเหตุได้จากสารเคมีบางชนิด

ลูมินอล (Luminol, สูตรเคมี C8H7N3O2) เป็นผงสารเคมีที่ถูกนำมาผสมกับไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide, สูตรเคมี H2O2) และสารประกอบอื่น ๆ ให้อยู่ในรูปของเหลว เมื่อนำไปพ่นในบริเวณที่สงสัย ลูมินอลจะทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็กในฮีโมโกลบินของคราบเลือดที่มีแม้เพียงเล็กน้อย รวมถึงคราบเลือดที่ถูกทำความสะอาดไปนานจนมองไม่เห็น ทำให้เกิดการเรืองแสงสีฟ้าขึ้นประมาณ 30 วินาที ในบริเวณที่มีคราบเลือดอยู่ เรียกปฏิกิริยานั้นว่า“ปฏิกิริยาเคมิลูมิเนสเซนซ์” (Chemiluminescence) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สารปล่อยพลังงานออกมาในรูปแบบของแสงหลังจากถูกกระตุ้นด้วยปฏิกิริยาเคมี   

การพิสูจน์หลักฐานในไทยมักจะไม่ค่อยใช้ลูมินอล แต่ในต่างประเทศลูมินอลนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เราอาจเคยได้ยินชื่อของลูมินอลจากละคร และภาพยนตร์ต่างประเทศ ลูมินอลช่วยเปิดเผยรูปร่าง และการกระจายของเลือดที่ชัดเจน นำไปสู่การวิเคราะห์รูปแบบการสังหาร เพราะการกระจายของเลือดจากการถูกยิงด้วยปืน หรือแทงด้วยมีดมีรูปแบบที่แตกต่างกัน และบางกรณีที่เลือดติดกับรองเท้าของผู้ต้องหา ลูมินอลจะช่วยเผยทิศทาง ลำดับขั้นของคดี รูปแบบการเคลื่อนย้าย และวิธีการจัดการศพด้วย

แม้ลูมินอลจะมีประโยชน์ในการสืบคดี แต่ก็มีข้อจำกัดที่สำคัญคือ สารชนิดนี้ไม่สามารถตรวจพบคราบเลือดที่ถูกชะล้างด้วยสารทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ หรือผงซักฟอก ในการสืบสวนการใช้ลูมินอลมักเป็นวิธีการสุดท้ายที่ใช้ในการหาหลักฐานในพื้นที่ต้องสงสัย เพราะการพ่นลูมินอลจะต้องทำในพื้นที่ทั่วทั้งบริเวณซึ่งอาจทำลายหลักฐานอื่น ๆ ในสถานที่เกิดเหตุได้

วันที่: 
Fri 26 April 2024
แหล่งที่มา: 
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/44883
Hits 46 ครั้ง