ไขข้อข้องใจ พยาธิในอาหาร มีกี่ชนิด?

หลายครั้งหลายหนที่เราอ่านข่าว หรือเห็นโพสต์ในโซเชียลมีเดียว ถึงสิ่งแปลกปลอมที่เข้าใจกันว่าเป็น “พยาธิ” ในอาหารที่เราทานเข้าไป ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเส้นๆ ที่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร แต่ก็สันนิษฐานว่าเป็นพยาธิเอาไว้ก่อน เพราะมีความเสี่ยงที่อาหารที่เราทานจะมีพยาธิอยู่ในนั้น แต่ที่จริงแล้วพยาธิในอาหารมีกี่ชนิด อยู่ในอาหารอะไรบ้าง แล้วอันตรายต่อร่างกายของเรามากน้อยแค่ไหนหากเราเผลอทานเข้าไปในร่างกาย Sanook! Health มีคำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. มาฝากกันค่ะ

พยาธิที่พบในอาหาร มีกี่ชนิด พบในอาหารชนิดใดบ้าง
พยาธิใบไม้ตับ
พยาธิใบไม้ตับ พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น
พยาธิตัวตืด
พยาธิตัวตืด พบในเนื้อหมู วัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดและมีไข่พยาธิปนเปื้อน
พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า
พยาธิไส้เดือน และพยาธิแส้ม้า พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก
พยาธิตัวจี๊ด
พยาธิตัวจี๊ด พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น
พยาธิอะนิซาคิส
พยาธิอะนิซาคิส พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ

วิธีหลีกเลี่ยงพยาธิจากอาหาร

- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตดูว่ามีตัวอ่อนพยาธิซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก

- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือทำให้สุกด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ และการบีบมะนาวไม่มีผลในการฆ่าตัวอ่อนพยาธิ เพียงแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น

- ผักสดหากจะรับประทานดิบ ๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

- ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร

ยาถ่ายพยาธิจำเป็นหรือไม่?

หลายคนคิดว่าน่าจะทานอาหารที่มีพยาธิเข้าไปในร่างกายบ้างไม่มากก็น้อย อาจจะด้วยชอบทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบอยู่บ่อยๆ หรือโดนเพื่อนแซวว่าทานเท่าไรก็ไม่อ้วน เพราะมีพยาธิอยู่ในท้อง จึงมีความคิดที่จะหายาถ่ายพยาธิมาทาน

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิ หากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ (เช่น รับประทานเนื้อสัตว์ที่สุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ) แต่หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าได้รับพยาธิเข้าสู่ร่างกาย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ หรืออาการคันก้นเนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดของพยาธิที่ได้รับ

วันที่: 
Wed 6 June 2018
แหล่งที่มา: 
https://www.sanook.com/health/10753/
Hits 3,414 ครั้ง