ติดตาม "ภัยแล้ง" ด้วยดาวเทียม

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 8 January 2020

ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น! จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศก็ลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง 447 แห่ง รวม 49,078 ล้าน ลบ.ม. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 60,141 ล้าน ลบ.ม. หรือหายไปเกือบ 20,000 ล้าน ลบ.ม. (ที่มา กรมชลประทาน) เทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตราฐานประมาณ 13 ล้านสระรวมกัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้เพียง 48% ของน้ำที่เหลือในปัจจุบัน ตัวเลขสถิติฟังดูแล้วก็ยังเกิดคำถามต่อว่า “แล้วพื้นที่ไหนบ้างที่จะต้องเตรียมตัวรับมือ!”

“ภัยแล้ง” กำลังจะมาเยือนอีกแล้ว เกษตรกรคือคนกลุ่มแรกและคนกลุ่มใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบก่อนใคร เนื่องจากภัยแล้งสำหรับประเทศไทย ส่วนมากเกิดจากฝนแล้งและทิ้งช่วง อีกทั้งประชากรไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ภัยแล้งจึงส่งผลเสียหายต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำ รวมถึงปริมาณลดลง เมื่อสินค้าเกษตรในตลาดมีปริมาณลดลง คราวนี้คนกลุ่มต่อไปก็จะได้รับผลกระทบก็คือผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองที่จะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่แพงขึ้นและมลพิษทางอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากมนุษย์แล้ว ภัยแล้งได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สัตว์ขาดน้ำทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ปริมาณความชื้นในดินลดลง น้ำในเขื่อนลดลง ต้นไม้พากันทิ้งใบเพื่อลดการคายน้ำ ใบไม้แห้งที่ร่วงหล่นกลายเป็นเชื้อเพลงให้ไฟลุกลามได้ง่ายกว่าในช่วงฤดูกาลอื่น ๆ ควันจากไฟป่าพัดพาเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กไปสู่ชั้นอากาศที่มนุษย์เราใช้หายใจ ปกคลุมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงเป็นเวลานาน สุดท้ายภัยแล้งก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ตามที่ปรากฏในข่าว เป็นปกติในพื้นที่ที่เกิดความแห้งแล้ง ขาดน้ำ เรามักจะเห็นต้นไม้พากันเหี่ยวแห้ง ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลไม่เขียวขจีเหมือนในช่วงฤดูฝน หากวิเคราะห์ในมุมของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ต้นไม้กลุ่มดังกล่าวจะสะท้อนรังสีของดวงอาทิตย์ (คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ไปยังเซนเซอร์ดาวเทียมในสัดส่วนที่แตกต่างของแต่ละช่วงคลื่น ด้วยความแตกต่างนี้จึงนำมาสู่เทคนิคการตรวจวัดหาพื้นที่ภัยแล้งบนภาพถ่ายจากดาวเทียมโดยอ้างอิงจากความอุดมสมบูรณ์ของพืชในแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่า Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายๆวิธีที่จะสามารถหาพื้นที่เสี่ยงต่อภัยแล้ง

อีกหนึ่งวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายก็คือ การตรวจวัดระดับความชื้นในดินหรือพืชพรรณจากการสะท้อนรังสีของดวงอาทิตย์ในสัดส่วนที่แตกต่างกันของแต่ละช่วงคลื่น หรือที่เรียกว่า Normalized Difference Water Index (NDWI) ก็คือว่า หากมีปริมาณน้ำในดินหรือพืชพรรณมาก จะทําให้รังสีในช่วงคลื่นอินฟาเรดสั้น (SWIR) ถูกดูดซับมาก ส่งผลให้มีการสะท้อนรังสีออกมาน้อยลง ทำให้ค่าดัชนี NDWI ที่คํานวณได้มี ค่าสูงขึ้นตามไปด้วย ก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งในการตรวจวัดหาพื้นที่ภัยแล้งโดยอ้างอิงจากค่าความชื้นในดินและพืช การคำนวณค่า NDVI และ NDWI บนภาพถ่ายจากดาวเทียม จะทำให้เรารับรู้ถึงสถานการณ์และพื้นที่แห้งแล้งทั้งประเทศได้ทันการณ์ ซึ่งจิสด้า ได้ผลิตและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวอย่างต่อเนื่องผ่านทางเว็บไซต์ http://drought.gistda.or.th/ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนคนไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประกอบการทำความเข้าใจสถานะการณ์ภัยแล้ง และคอยติดตาม วางแผนรับมือภัยแล้งในแต่ละพื้นที่

สำหรับเกษตรกรแล้วข้อมูลนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หากแปลงเกษตรของตนอยู่ในพื้นที่ภัยแล้งปีนี้ ควรจะเลือกปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชทนแล้งแทน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำ ให้เพียงพอตลอดฤดูกาล ส่วนในพื้นที่ที่เพาะปลูกไปแล้ว ก็ควรประสานงานกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือเพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน ภัยแล้ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี จากข้อมูลสถิติมีทั้งหนักและเบาสลับกันไป ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ แต่เราสามารถอยู่กับมันได้ด้วยความเข้าใจ บนพื้นฐานของข้อมูลความเป็นจริง ซึ่งจะนำไปสู่วิธีการแก้ไขปัญหาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราอย่างตระหนักรู้ ไม่ตระหนกไปกับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

URL: 
https://www.gistda.or.th/main/th/node/3604