อพวช. ร่วมด้วย ม.มหิดล และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ค้นพบ “มดอาจารย์รวิน” มดชนิดใหม่ของโลก ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ และบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมของประเทศ

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 3 September 2019

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมด้วย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลก พร้อมตั้งชื่อ “มดอาจารย์รวิน” ส่งเสริมความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งกระตุ้นศาสตร์ ด้านอนุกรมวิธานวิทยาให้เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลาย พร้อมร่วมกันศึกษาด้านอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ต่อไป เพื่อนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่สังคมไทยต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ หรือ อพวช. มีภารกิจในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำผลการศึกษาวิจัย การเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างที่สำคัญและมีคุณค่า มาสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดไปสู่สังคม ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อพวช. ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเหล่านักธรรมชาติวิทยา ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่ดำเนินการศึกษาค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกแล้วกว่า 68 ชนิด ซึ่งเฉลี่ยแล้ว อพวช. ได้ทำการค้นพบปีละ 6-7 ชนิด นำมาสู่ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และผลงานหรืองานวิจัยเหล่านี้ถูกนำไปตีพิมพ์ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการระดับนานาชาติ และต่อจากนี้ อพวช. ก็จะยังให้การสนับสนุนและผลักดันการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทยต่อไป โดยผลงานการค้นพบมดชนิดใหม่ของนักธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ครั้งนี้ ได้ สร้างความสำคัญให้กับด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคม และหวังว่าองค์ความรู้เหล่านี้จะได้ถ่ายทอดไปสู่เยาวชน และประชาชนที่ได้หันมาสนใจเรื่องราวของสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น”

ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ผู้ค้นพบมดชนิดใหม่ กล่าวว่า “การค้นพบมดชนิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ซึ่งมดที่เราค้นพบมีความแตกต่างจากมดชนิดอื่นๆ บนโลก โดยมีลักษณะเด่นก็คือ ลักษณะภายนอกที่มีผิวหนังที่ขรุขระ ไม่เงาเหมือนมดสายพันธุ์อื่นๆบนโลกที่มีความมันเงา มดตัวนี้สามารถบ่งชี้ถึงดัชนีของความอุดมสมบูรณ์บนผืนป่าในประเทศไทยที่ยังคงอยู่ โดยเราได้ค้นพบเจอที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จ.นครราชสีมา ซึ่งการค้นพบครั้งนี้นับเป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศ มดสายพันธุ์ใหม่ของโลกชนิดนี้มีชื่อเต็มคือ Myrmecina raviwongsei Jaitrong, Samung, Waengsothorn et Okido โดยมดชนิดนี้ถูกจัดให้เป็นมดชนิดใหม่ของโลก ในเดือนมิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา พร้อมถูกตั้งชื่อว่า "มดอาจารย์รวิน" ตามชื่อของ ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้บริหารของ อพวช. ที่ให้การสนับสนุนและผลักดันการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ ให้แก่นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาของ อพวช. อย่างจริงจังมาโดยตลอด”

สุดท้ายนี้ อพวช. ยังคงมุ่งมั่นและผลักดันการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษาวิจัย การสำรวจ และเก็บรวบรวมตัวอย่างอ้างอิง รวมถึงองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยา พร้อมเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิจัย รวบรวมวัสดุอุเทศ เผยแพร่ความรู้และจัดแสดงนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างนักวิชาการ และนักเรียน นักศึกษา ผู้สนใจ และประชาชนโดยทั่วไป เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอนุกรมวิธาน และสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ต่อไปในอนาคต

ข้อมูลข่าวโดย : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

URL: 
https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/428-2019-09-03-06-45-55