โครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 3 January 2020

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น (JAXA), องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) และหน่วยงานพันธมิตร จัดโครงการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ชิงเงินรางวัลรวม 40,000 บาท

โดยทีมชนะเลิศจะได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์เอเชีย ณ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกันยายน พ.ศ.2563

ที่มาโครงการ

องค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (National Aeronautics and Space Administration : NASA) ได้มีความร่วมมือกัน ริเริ่มจัดการแข่งขันภารกิจหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ ชิงแชมป์เอเชีย ในระดับเยาวชนขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้โปรแกรม JAPAN US Open Platform Partnership (JP-US OP3) โดยจะจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ในเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 2020 ณ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น

สำหรับหุ่นยนต์ที่ใช้ในการแข่งขันในครั้งนี้ คือหุ่นยนต์ Astrobee ของ NASA และหุ่นยนต์ Int Ball ของ JAXA โดยเป็นการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศที่ใช้งานอยู่จริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station : ISS) ให้ปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย

เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย ในการพัฒนาขีดความรู้ความสามารถด้านสะเต็มศึกษา (Science Technology Engineering and Mathematics Education : STEM Education) และเตรียมทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานสมาชิกของ Kibo-ABC (Asian Beneficial Collaboration through “Kibo” Utilization) จึงได้รับมอบสิทธิ์ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกหาทีมชนะเลิศเป็นตัวแทนทีมเยาวชนไทย เข้าร่วมการแข่งขัน Kibo Robot Programming Challenge 2020 รอบชิงแชมป์เอเชียในเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ต่อไป

โดย สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัด กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ Ananda UrbanTech (อนันดา เออร์เบินเทค) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) สมาคมอากาศยานไร้คนขับแห่งประเทศไทย สมาคมยุวชนอวกาศไทย Drone Academy Thailand บริษัท สเปซแซ่บ จำกัด SPACETH.CO และ Pantip Pratunam จัดการแข่งขัน Space Flying Robot Programming Challenge 2020 ครั้งแรกของประเทศไทยขึ้นมา

ฉากสถานการณ์:

ณ สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งอยู่สูงจากพื้นโลกราว 400 กิโลเมตร ได้มีอุกกาบาตพุ่งเข้ามาในวงโคจร และชนเข้ากับชิ้นส่วนของสถานีอวกาศนานาชาติ จนทำให้เกิดช่องโหว่และมีอากาศรั่วไหล

ส่วนที่เกิดความเสียหายก็คือ Kibo Module ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องกอบกู้โดยเร่งด่วน โดยใช้หุ่นยนต์ Astrobee ช่วยค้นหาตำแหน่งจุดที่เกิดความเสียหายและทำการซ่อมแซม ซึ่งจะต้องรวบรวมข้อมูลจาก Astrobee พร้อมกับการสนับสนุนจาก Int-Ball ที่ทำหน้าที่เป็นหุ่นยนต์ถ่ายภาพ

ภารกิจสุดท้ายที่ต้องทำภายใต้เวลาอันจำกัดก็คือ การยิงเลเซอร์เพื่อเชื่อมช่องโหว่ให้ปิดสนิท จนไม่มีอากาศรั่วไหลอีกต่อไป แต่ถ้ายิงเลเซอร์ผิดตำแหน่ง กลับจะทำให้ช่องโหว่ขยายกว้างเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการยิงเลเซอร์ให้ตรงจุดที่มีอากาศรั่วไหลเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสถานีอวกาศนานาชาติ
ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องสร้างโปรแกรมขึ้นมาเพื่อควบคุม Astrobee โดยใช้ Android Application ที่เขียนด้วยภาษา JAVA ให้เคลื่อนที่จากจุดเริ่มต้น ไปยังพื้นที่ที่กำหนด โดยจะต้องเคลื่อนเข้าไปอ่าน QR Code ตามจุดที่กำหนด และเคลื่อนไปยิงเลเซอร์ที่เป้าหมายสุดท้าย ซึ่งคะแนนการแข่งขันจะคำนวณจากความแม่นในการยิงเลเซอร์สู่เป้าหมายของ Astrobee และเวลาที่ใช้ในการปฎิบัติภารกิจ

สามารถเข้าไปทดลอง Run Code ที่เขียนขึ้นมาได้ที่ https://jaxa.krpc.jp (ต้องส่งใบสมัครเพื่อรับ ID ก่อน จึงจะสามารถ Login เข้าสู่ระบบได้)

เกณฑ์การสมัคร

นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาจนถึงนักศึกษาระดับปริญญาตรี สมัครเข้าร่วมการแข่งขันประเภททีม สมาชิกทีมละไม่เกิน 3 คน (หัวหน้าทีม 1 คน และสมาชิก 2 คน)
ส่งใบสมัครมาที่อีเมล paritat@nstda.or.th (หมดเขตส่งใบสมัคร 19 มี.ค.63) เมื่อทางโครงการฯ ได้รับใบสมัครเรียบร้อยแล้ว จะจัดส่ง ID และ Password ให้กับหัวหน้าทีมทางอีเมล เพื่อใช้ทดลองเขียนโปรแกรมควบคุม Astrobee ใน Server ของ JAXA และใช้เป็น ID สำหรับการแข่งขันในรอบคัดเลือก
เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์บังคับหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศ Astrobee ของ NASA ตามภารกิจที่กำหนด
ในการแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 จะเป็นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ในเกม Simulationโดยใช้เซิฟเวอร์ของ JAXA ประเทศญี่ปุ่นทำการแข่งขัน
ในการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 จะเป็นการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee จริง ณ Tsukuba Space Center ประเทศญี่ปุ่น โดยสื่อสารตรงไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งมีนักบินอวกาศเป็นผู้ควบคุมการแข่งขัน
ผลตัดสินการแข่งขันของผู้จัดงานถือเป็นที่สิ้นสุด
กำหนดการแข่งขัน

การแข่งขันรอบคัดเลือก (จะประกาศให้ทราบอีกครั้ง)
การแข่งขันรอบชิงแชมป์ประเทศไทย เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563
การแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ณ ประเทศญี่ปุ่น เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 (ทางโครงการฯ จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางทั้งหมดให้กับทีมชนะเลิศของประเทศไทย)
เงินรางวัล

ทีมชนะเลิศ เงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 1 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ทีมรองชนะเลิศ อันดับ 2 เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
*** ทีมชนะเลิศ ได้สิทธิ์เป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ณ ประเทศญี่ปุ่น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และส่งไฟล์ใบสมัคร
e-mail: paritat@nstda.or.th
Facbook: https://www.facebook.com/JaxaThailand

URL: 
https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand/krpc2020/