Web 3.0 คืออะไร? - ส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง

วันที่เผยแพร่: 
Mon 28 February 2022

   เราแทบทุกคนต่างต้องใช้อินเทอร์เน็ตกันทั้งสิ้น อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของคนในโลกนี้ก็เพิ่มขึ้นทุก ๆ วัน เทคโนโลยีด้านการสื่อสารก็พัฒนาขึ้นอยู่ตลอด จนมาช่วงเร็ว ๆ นี้Web 3.0 คืออะไร ทำไมถึงเป็นอินเทอร์เน็ต The Next Era โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ในการสร้างจักรวาล Metaverse ก่อนจะอธิบายตรงนี้เรามาย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน การเกิดขึ้นของ “อินเทอร์เน็ต” ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้น ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกเทคโนโลยีเลยก็ว่าได้ นวัตกรรมตัวนี้ได้เข้ามาสร้างสิ่งที่ไม่คาดคิดหลายอย่างให้เกิดขึ้นและได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ก่อนจะมาเป็น Web 3.0
   แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงการมีอยู่ของ ‘Web 3.0’ แปลว่าก่อนหน้านี้จะต้องมี Web เวอร์ชันก่อน ๆ อย่างแน่นอน ในที่นี้ก็คือ Web 1.0 และ Web 2.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาทีละขั้นตอน พอจะสรุปได้ดังนี้

Web 1.0
   เป็นเว็บไซต์ในยุคเริ่มต้น เกิดขึ้นในปี 2532 โดย ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี (Tim Berners-Lee) วิศวกรด้านคอมพิวเตอร์ของอังกฤษ เป็นคนที่คิดค้นวิธีการสื่อสารข้อความหลายมิติ (Hypertext) เพื่อสื่อสารข้อมูลหากันโดยใช้อินเทอร์เน็ต ในชื่อ เวิล์ดไวด์เว็บ (World Wide Web) รวมไปถึงการใช้องค์ประกอบพื้นฐานของเว็บไซต์ อย่าง HTTP, HTML และ URL ซึ่ง Web 1.0 นั้นเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว (One Way Communication) หมายถึงเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียว ไม่มีการโต้ตอบกลับมาใด ๆ คนที่จะสามารถแก้ไขหน้าตาเว็บไซต์ได้ก็จะมีแต่เจ้าของเว็บไซต์ (Webmaster) เท่านั้น อย่างเช่น เว็บไซต์ประกาศข่าว เว็บไซต์ประกาศข่าวรับสมัครงาน เว็บประวัติส่วนตัว เป็นต้น

Web 2.0
   เนื่องจาก Web 1.0 นั้นเป็นเว็บไซต์เพื่อสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถโต้ตอบกลับมาได้ ทำให้เกิดการพัฒนามาเป็น Web 2.0 ในยุคถัดมา ซึ่งเว็บไซต์ประเภทนี้สามารถทำได้ทั้งอ่าน แบบใน Web 1.0 แต่สามารถโต้ตอบกันได้อย่างอิสระ ในรูปแบบการสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication) สามารถสื่อสารหากันได้ทั้งระหว่างเจ้าของเว็บไซต์และผู้ใช้งาน หรือระหว่างผู้อ่านกันเองได้ ผู้ใช้งานก็สามารถเป็นได้ทั้งผู้อ่าน และผู้สร้างเนื้อหาเพื่อสื่อสารกันเองได้ เกิดเป็นสังคมบนเว็บไซต์ และเกิดเป็นสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ขึ้นมา ซึ่งทำให้ข้อมูลข่าวสารนั้นไหลไปมาได้อย่างรวดเร็ว และมากมายกว่าแต่ก่อนอย่างมาก
    แต่ว่าปัญหาที่ยังคงมีอยู่ก็คือ การติดต่อสื่อสารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสื่อสารที่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะช่องทางอยู่ ซึ่งคนกลางเหล่านี้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เราสื่อสารกัน ทำให้เกิดปัญหาการขโมยข้อมูลไปขาย วิเคราะห์เพื่อทำโฆษณาที่ตรงใจเรามากขึ้น ทำให้ข้อมูลของเราที่สื่อสารเข้าไปนั้นไม่เป็นข้อมูลส่วนตัวอีกต่อไป จึงนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดของ Web 3.0 เพื่อลดบทบาทของตัวกลางลง เพิ่มความ ‘ไร้ตัวกลาง’ (Decentralized) ให้มากยิ่งขึ้น

แล้ว Web 3.0 คืออะไรกันแน่
   ในปัจจุบัน Web 3.0 คือแนวคิด รูปแบบของเว็บไซต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่คาดการณ์ไว้ว่ามันจะเป็นยุคใหม่ของอินเทอร์เน็ต ที่จะมีความฉลาดมากขึ้น สามารถทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเช่นวิเคราะห์ข้อมูลได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Machine Learning (ML), Big Data, Artificial Inteligence (AI), Blockchain สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
   โดย Web 3.0 นี้เป็นแนวคิดที่เริ่มมาจากทิม เบอร์เนอร์ส-ลี คนเดียวกันกับที่ริเริ่ม Web 1.0 นี่แหละ เขาได้มองว่าเว็บที่จะเป็น Web 3.0 ได้นั้น จะเกิดจากพัฒนาการการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลบนเว็บไซต์ ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เชื่อมโยงระหว่างกันแบบเครือข่ายทั่วทั้งโลก รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างเช่น AI เข้ามาช่วยในการทำให้เว็บไซต์นั้นทำงานได้อย่างดีมากขึ้น หรือการถ่ายโอนข้อมูลระหว่างคน และอุปกรณ์ได้แบบอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น Semantic Web หรือ ‘เว็บเชิงความหมาย’
   และเนื่องจากว่านี่เป็นเพียงการคาดการณ์เว็บไซต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทิม เบอร์เนอร์ส-ลี จึงได้อุทิศตนเพื่อการพัฒนามาตรฐานสากลของเว็บไซต์โดยเฉพาะ และได้ก่อตั้ง องค์กรเว็บไซต์สากล (World Wide Web Consortium หรือ W3C) ขึ้นมา และได้สรุปลักษณะของ Web 3.0 ที่อาจจะเกิดขึ้น และเริ่มเป็นจริงแล้วในตอนนี้ออกมาได้ดังนี้
-ไร้ตัวกลาง (Decentralized) หมายถึงมีการกระจายอำนาจผู้ใช้งาน ไม่ต้องติดต่อสื่อสารหากันผ่านตัวกลาง หรือเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ (เช่น สามารถติดต่อหากันได้โดยไม่ต้องใช้เซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊กหรือกูเกิลเข้ามาเกี่ยวข้อง)
-มีโค้ดที่ออกแบบร่วมกันได้ (Bottom-up Design) หมายถึงการพัฒนาโค้ดที่ให้ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการเข้ามาพัฒนาโค้ดของเว็บไซต์ หรือแอปต่าง ๆ จนสามารถใช้งานได้ แทนที่จะให้คนกลุ่มเดียว
เข้ามาออกแบบโค้ดเท่านั้น ให้ลองนึกถึงเว็บไซต์ร่วมออกแบบโค้ดโปรแกรมอย่าง กิตฮับ (Github) ที่โค้ดโปรแกรมเป็นแบบโอเพ่นซอร์ส สามารถเข้ามาร่วมพัฒนาโค้ด แก้บั๊กต่าง ๆ ร่วมกัน เป็นต้น
-มีฉันทามติ (Consensus) สามารถตรวจสอบความถูกต้องกันเองระหว่างผู้ใช้ได้ มีความโปร่งใส เพื่อสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้

แล้วคนธรรมดาอย่างเรา ๆ ต้องรู้อะไรบ้างล่ะ 
   แน่นอนว่าในหลาย ๆ เว็บไซต์ ที่ไม่ว่าผู้อ่านจะลองหาอ่านกันเอง หรือว่าทางผู้เขียนได้สืบค้นมานั้น ต่างก็มีการพูดถึงการนำ Web 3.0 เข้าสู่เทคโนโลยีของ คริปโทเคอร์เรนซี ทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดนั่นเป็นเพราะว่า คริปโทเคอร์เรนซีนั้นมีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งจะวนกลับไปที่ความเป็น Web 3.0 ที่กล่าวไว้ข้างต้นได้นั่นเอง
   ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกัน และด้วยเทรนด์ของโลกที่เริ่มให้ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือ NFT (Non-Fungible Token หรือตราที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้) ที่ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ อาจทำให้อนาคต โลกของเราอาจจะกำลังเข้าสู่ยุคของ Web 3.0 อย่างแท้จริงก็เป็นได้แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้อย่างแน่นอน

แหล่งที่มา
https://www.beartai.com/article/tech-article/914953

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/web-30-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3-%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87
Hits 585 ครั้ง