คางคกมีพิษ...กินแล้วอาจตายได้

วันที่เผยแพร่: 
Mon 30 August 2021

แทบจะทุกๆคนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก คงจะรู้จัก และ เคยเห็นคางคกกันมาแล้ว คางคกจัดเป็นสัตว์ครึ่งบกครื่งน้ำ เช่นเดียวกับ พวก กบ เขียด อึ่งอ่าง หรือ ตะปาด คางคกจัดอยู่ในวงศ์ (Family) บูโฟนิดี (Bufonidae) คางคกทุกชนิด จัดอยู่ใน Genus Bufo พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย

คางคกชนิดที่พบมากทั่วทุกภาคในฤดูฝน คือชนิด Bufo melanostictus หรือที่เรียกกันทั่วๆไปว่า คางคกบ้าน ลักษณะของคางคก คือ มีผิวหนังที่ขรุขระ เป็นตะปุ่ม ตะป่ำ ใหญ่บ้าง เล็กบ้างทั่วทั้งตัว โดยเฉพาะมีมากทางด้านหลัง มีขนาดความยาวจากจมูกถึงก้น ประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนที่พบทางภาคใต้ของประเทศไทย จะมีขนาดที่ใหญ่กว่ามาก มความยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดิน ชอบหลบซ่อนตัว อยู่ใต้ก้อนหิน ขอนไม้ ตามซอกหรือโพรงในดิน ฯลฯ มีนิสัยชอบออกหากินในเวลากลางคืน กินแมลง หรือสัตว์เล็กๆ หนอน เป็นอาหาร

สารพิษจากคางคก

คางคกมีต่อมพิษข้างๆหู เรียกว่า พาโรติด (Parotid gland) ต่อมนี้จะมีน้ำพิษ ซึ่งมีสารที่เป็นพิษ เช่น บูโฟท๊อกซิน (Bufotoxin) บูฟาจินส์ (Bufagins) อะกลูโคน (Aglucons) และ บูโฟธาลิน (Bufotalins) นอกจากต่อม พาโรติด แล้ว ยังพบสารพิษอยู่ในเลือด ในไข่ ของคางคก สารพิษเหล่านี้ทนความร้อนได้สูง อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ก็ยังไม่สลายตัว

อาการเป็นพิษ

ภายหลังจากที่ภายหลังรับประทานคางคกที่มีสารพิษอยู่ด้วย ต่อมาไม่นาน จะรู้สึกมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง วิงเวียน มีอาการสับสน มองเห็นภาพต่างๆเป็นสีเหลือง พูดเพ้อ ง่วงซึม มีอาการทางจิตประสาท ชักและหมดสติได้ การหายใจไม่ปกติ ติดขัด

ต่อมาหัวใจจะเต้นช้าลง เต้นไม่เป็นจังหวะ เร็วบ้างช้าบ้าง ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่รับประทานเข้าไป ถ้าได้รับสารพิษจำนวนมาก ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว และ ตาย ได้ในที่สุด สำหรับเด็กยังมีความต้านทานในร่างกายน้อยกว่าผู้ใหญ่ อาจจะเสียชีวิตได้เร็วกว่าผู้ใหญ่

การป้องกัน

ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคคางคก ถ้าจะนำคางคกมาบริโภค จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ ในการเตรียมเนื้อคางคกอย่างถูกวิธี เครื่องในและไข่ของคางคกห้ามนำมาปรุงอาหารโดยเด็ดขาด
ถ้าหากเกิดเป็นพิษจากการรับประทานคางคก และถ้าผู้ป่วยยังไม่อาเจียน ต้องรีบทำหรือควรกระตุ้นอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเร็ว แล้วรีบน้ำผู้ป่วยไปพบแพทย์ หรือ ส่งโรงพยาบาลทันที ข้อเสนอให้คิด ทำไมต้องไปกินคางคกด้วย ทั้งๆที่ในเมืองไทยมีอะไรให้เลือกกินได้มากมาย

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/515-toad

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
Hits 871 ครั้ง