ชีพจรคืออะไร ?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 19 August 2021

หลายๆ คนคงเคยรู้จักการจับชีพจรจากการชมภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตและคงสงสัยว่าชีพจรคืออะไร การจับชีพจรบอกอะไรกับแพทย์บ้างและมีวิธีการอย่างไร

ชีพจรเป็นการขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เป็นจังหวะตามคลื่นความดันที่มาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ใกล้หัวใจ สามารถจับได้ทั้งที่ข้อมือ (radial) ข้อพับศอก (brachial) ข้างคอ (carotid) ขาหนีบ (femoral) หลังเข่า (poplitial) และหลังเท้า (pedal pulse) การจับชีพจรโดยปกติ เริ่มที่ข้อมือ วิธีจับชีพจรเราใช้คลำโดยหงายมือผู้ป่วยขึ้น วางนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง ของเราลงบนตำแหน่งของชีพจรตรงข้อมือ และวางนิ้วหัวแม่มือไว้ทางด้านหลังข้อมือของ ผู้ป่วย

การวัดชีพจร กดปลายนิ้ว ลงบนข้อมือด้วยแรงพอประมาณ จนรู้สึกถึงการเต้นของชีพจร หลังจากนั้น จึงนับชีพจร การจับชีพจรจะช่วยบอก
ก. อัตราการเต้นของหัวใจกี่ครั้ง/นาที
ข. จังหวะการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอหรือไม่
ค. ชีพจร 2 ข้างเท่ากันหรือไม่
ง. ลักษณะของชีพจร

ในรายที่มีชีพจรสม่ำเสมอ ปกติเราใช้นับจำนวนชีพจรใน 15 วินาที และคูณ 4 จะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจต่อนาที ปกติจะอยู่ระหว่าง 60-100 ครั้ง/นาที และจังหวะคงที่สม่ำเสมอ ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้ หรือไม่สม่ำเสมอถือว่าผิดปกติ

การตรวจชีพจรร่วมกับการฟังเสียงหัวใจและการตรวจร่างกายอื่นๆ ประกอบกับประวัติความเจ็บป่วยที่สัมภาษณ์ได้ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคต่างๆ และเลือกส่งตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ตามความเหมาะสม

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 1,969 ครั้ง