ปลวก...สัตว์อันตราย

วันที่เผยแพร่: 
Thu 9 September 2021

เคยรู้จัก ปลวก กันไหม เคยเห็นปลวกกันไหม บางคนอาจรู้จักและเคยเห็นตัวปลวกมาแล้ว บางคนอาจจะไม่เคย ปลวกมีกี่ชนิด ปลวกอยู่ที่ไหน มีอันตรายหรือเปล่า ผมจะชี้แจงเรื่องนี้ให้ทราบ ที่จริงปลวกมีทั้งให้โทษและให้ประโยชน์ แก่คนเราด้วยครับ เมื่อเอ่ยคำว่าปลวก มักจะทำเรื่องหวาดผวาให้กับทุกคนที่เป็นเจ้าของบ้าน เพราะบางครั้งกว่าจะรู้ว่าปลวกขึ้นบ้าน ก็พบว่าปลวกกินฝาบ้าน กินเสาเรือน ไปเยอะแล้ว

ในโลกเรานี้มีปลวกอยู่ประมาณ 2000 ชนิด แต่ที่พบในเมืองไทยมีประมาณ 74 ชนิดครับ ปลวกจัดเป็นพวกแมลงชนิดหนึ่ง บางชนิดก็บินได้ บางชนิดก็อยู่ในดินตลอดเวลา บางชนิดก่อจอมปลวกอยู่ บางชนิดทำรังอยู่ในต้นไม้ แต่ปลวกทุกชนิดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะกินไม้เป็นอาหารเสมอ

ปลวกจัดเป็นสัตว์สังคมเช่นเดียวกับผึ้ง โดยจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ รังใหญ่ๆ อาจจะมีปลวกนับเป็นล้านตัวนะครับ ปลวกในรังหนึ่งๆแบ่งออกเป็นชนิด หรือ เป็นวรรณ ได้แก่

1. วรรณสืบพันธุ์ แมลงเม่าเมื่อเจริญเต็มที่ก็บินออกจากรังเดิม ตัวผู้ตัวเมียจะจับ

คู่ผสมพันธุ์กัน แล้วสลัดปีกให้หลุดออกไป ต่อจากนั้นมันก็จะไปสร้างรังใหม่ ตามรอยแตกรอแยกของพื้นดิน ตัวเมียก็จะเป็น ราชินีปลวก ทำหน้าที่ออกไข่เพียงอย่างเดียว ส่วนตัวผู้เป็น ราชาปลวก ทำหน้าที่ผสมพันธุ์กับตัวเมียหรือราชินีปลวกเท่านั้น

2. วรรณทหาร หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ปลวกทหาร ตัวค่อนข้างใหญ่ มีเขี้ยวใหญ่ หัว และ ปากโต ทำหน้าที่คอยป้องกันอันตรายให้แก่รัง

3. วรรณกรรมกร หรือที่เราเรียกกันทั้วๆไปว่า ปลวกงาน จัดเป็นพวกที่มีจำนวนมากที่สุดในรังปลวก ตัวค่อนข้างเล็ก มีหน้าที่หาอาหาร ดูแลรัง สร้างรัง ซ่อมแซมรัง ดูแลไข่ และ ตัวอ่อน พวกวรรณกรรมกร เป็นวรรณที่อันตรายที่สุด เพราะมันจะกินทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยเฉพาะพวกไม้ต่างๆ

มีแหล่งที่อาศัยในที่ต่างๆกันดังนี้ครับ

ก. อาศัยอยู่ในไม้แห้ง กัดกินไม้เป็นอาหาร เช่น ตามกองไม้ ฝาบ้าน เสาเรือนที่เป็นไม้พวกนี้ต้องการความชื้นน้อย

ข. อาศัยอยู่ในรู ขุดรูสร้างรังอยู่ในดินตลอด ปลวกกรรมกรจะใช้ดินสร้างเป็นทางเดินที่ติดต่อกับไม้ หรือ กับต้นไม้ และกินไม้เป็นอาหาร

ค. อาศัยอยู่ในจอมปลวก จะสร้างรังเป็นลักษณะของจอมปลวก ซึ่งจอมปลวกจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ภายในจอมปลวกจะมีห้องต่างๆหลายๆห้อง เช่น ห้องอนุบาลไข่ ห้องอนุบาลตัวอ่อน ห้องเพาะเชื้อเห็ดไว้เป็นอาหารภายในรังปลวก

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/540-termite

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2
Hits 389 ครั้ง