ฟันและยาสีฟัน

วันที่เผยแพร่: 
Tue 14 September 2021

ฟันของคนเราเปรียบเสมือนเป็นเครื่องประดับที่สำคัญบนใบหน้าทั้งหญิงและชาย ช่วยให้แก้มทรงรูปอยู่ได้ไม่เว้าเข้าไปหาเงือก ตามปกตินั้นฟันน้ำนมจะมี 20 ซี่ อยู่บนขากรรไกรบนและล่างอย่างละ 10 ซี่เท่าๆกัน โดยมากฟันน้ำนมจะเริ่มโผล่ขึ้นพ้นจากเงือกเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไป และขึ้นครบเมื่ออายุครบ 2 ปี

เมื่อฟันน้ำนมเริ่มหลุดร่วงไปสักพักหนึ่งฟันแท้ก็จะโผล่ขึ้นมาแทนที่ ฟันแท้หรือฟันถาวรมี 32 ซี่ อยู่บนขากรรไกรบนและล่างอย่างละ 16 ซี่

ฟันแต่ละซี่มีโครงสร้างหลักอยู่ 2 ชนิด คือ

1. เดนทีน เป็นส่วนของเนื้อฟัน มีช่องอยู่ภายในและจะมีรูลงไปเปิดที่ตรงกลางของรากฟัน มีหลอดเลือดฝอยและเส้นประสาทอยู่ในส่วนนี้ด้วย

2. อีนาเมล เป็นส่วนที่มีสีขาวและเป็นเงาซึ่งหุ้มส่วนเดนทีน หรือตัวฟัน เป็นส่วนที่โผล่พ้นเงือกขึ้นมาทั้งหมด อีนาเมลประกอบด้วยสารจำพวกอนินทรีย์เป็นส่วนใหญ่

การผุของฟันก็เริ่มจากส่วนนี้นั่นเองครับ การผุเป็นผลจากการที่แบคทีเรียที่อยู่ในช่องปากและตามซอกฟันจะย่อยสลายเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันหรือที่เคลือบอยู่ตามผิวฟัน ทำให้เกิดสภาพที่เป็นกรดในบริเวณที่มีเศษอาหาร กรดนี้จะค่อยๆไปทำลายชั้นอีนาเมล ทำให้การผุของฟันเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเมื่อผุทะลุผ่านชั้นอีนาเมลเข้าสู่ชั้นเดนทีน ก็จะเป็นโพรงอยู่ข้างในฟัน ทำให้รู้สึกปวดฟันได้ครับ การใช้ยาสีฟันทำความสะอาดฟัน ก็เป็นวิธีป้องกันฟันผุได้ทางหนึ่ง

ยาสีฟัน เป็นสิ่งที่ช่วยในการทำความสะอาดฟัน และช่วยขจัดการสะสมของเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟันให้หลุดออกไป แบคทีเรียก็จะทำปฏิกิริยากับเศษอาหารไม่ได้

องค์ประกอบของยาสีฟัน โดยทั่วๆไปได้แก่

1. สารขัดถู ทำหน้าที่สำคัญคือ เป็นตัวช่วยขจัดคราบอาหารและเชื้อแบคทีเรียออกจากผิวฟัน สารนี้เป็นสารที่มีความแข็งพอเหมาะ ไม่หยาบจนเกินไปที่จะทำอันตรายแก่เงือกและเคลือบฟัน สารที่นิยมใช้ได้แก่ แคลเซี่ยมคาร์บอเนต ไดแคลเซี่ยมฟอสเฟต อะลูมิเนี่ยมออกไซด์ หรือ โซเดี่ยมเมตาฟอสเฟต

2. สารที่ช่วยให้ยาสีฟันมีความคงตัว เช่น กลีเซอร์รอล ซอร์บิตอล ช่วยรักษาความชื้นและความอ่อนนุ่มของยาสีฟันให้คงตัว ไม่เปลี่ยนสภาพหรือแข็งเมื่อถูกอากาศ

3. สารที่เป็นตัวยึด เช่น โซเดี่ยมคาร์บอกซีเมทิล เซลลูโลส ช่วยป้องกันการแยกตัวของของแข็ง คือสารขัดถูออกจากยาสีฟัน

4. สารประกอบฟลูออไรด์ ช่วยเพิ่มปริมาณฟลูออไรด์ที่เคลือบผิวฟันเพื่อป้องกันฟันผุ สารประกอบที่ใช้ทั่วๆไป ได้แก่ โซเดี่ยมฟลูออไรด์ ยาสีฟันบางชนิด บางยี่ฮ้อ อาจจะมีส่วนประกอบอื่นๆที่แตกต่างกันไป เช่น สารที่มีกลิ่นหอมต่างๆ รวมทั้งสารเพิ่มฟอง ฯลฯ

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/551-teethandtoothpaste

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%99
Hits 312 ครั้ง