ภัยใกล้ตัวเชื้อราแมวติดสู่คนได้

วันที่เผยแพร่: 
Mon 5 February 2024

    ทาสแมว! ต้องระวัง ภัยใกล้ตัว โรคเชื้อราจากสัตว์เลี้ยงสู่คน เป็นอาการติดเชื้อที่ใช้เวลาการรักษาไม่นาน แต่เมื่อเป็นแล้วมักทิ้งร่องรอยจุดด่างดำเอาไว้บนผิวหนัง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการรักษาที่ต้องใช้เวลานานพอสมควร โดยเฉพาะปัญหาการกลับมาเป็นซ้ำ ทำให้ร่องรอยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องทำความเข้าใจ

                   เชื้อราจากแมว คืออะไร?

                   เชื้อราจากแมวที่พบได้บ่อยคือเชื้อ Microsporum canis เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ผิวหนังของสัตว์ โดยไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สามารถติดต่อมายังคนได้ผ่านทางการสัมผัสโดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องมีบาดแผล ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราจากแมวได้อย่างง่ายดาย พฤติกรรมที่นำไปสู่การติดเชื้อ เช่น อุ้ม กอด นอนร่วมที่นอนเดียวกัน เป็นต้น

                   อาการของการติดเชื้อราแมว

                   มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบ ๆ ค่อย ๆ ขยายเป็นวงกว้าง และรู้สึกคันตลอดเวลา หากเกาแล้ว นิ้วที่เกาเผลอไปเกาบริเวณอื่นอาจทำให้บริเวณนั้นติดเชื้อราด้วยได้

                   วิธีการรักษาอาการติดเชื้อราแมว

  • หากมีอาการน้อย มีผื่นขึ้นไม่มาก 1-2 จุด ใช้ยาทาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ ผื่นจะค่อย ๆ หายไป
  • หากมีอาการมาก ผื่นขึ้นทั่วร่างกาย ต้องใช้ทั้งยาทาและยากินร่วมกัน ระยะเวลาในการรักษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ในส่วนนี้เป็นการรักษาอาการติดเชื้อ ซึ่งไม่ใช่การรักษารอยดำที่เกิดจากการติดเชื้อ และถึงแม้ว่าอาการเชื้อราจะหายแล้ว รอยดำจากเชื้อจะยังคงอยู่ โดยจะจางไปเองภายใน 2-3 เดือน และมักไม่มีแผลเป็นเกิดขึ้น

                   ทำไมรอยดำจากเชื้อราแมวบางคนถึงเป็นนาน

                   จากที่กล่าวไปในข้างต้น ว่ารอยดำจากเชื้อราแมวจะหายได้เองภายใน 2-3 เดือน แต่พบว่าบางคนกลับเป็นนานกว่านั้น สาเหตุเพราะมีการกลับมาเป็นซ้ำซึ่งพบได้บ่อยมาก ทำให้เกิดริ้วรอยด่างดำต่อเนื่องไม่รู้จบ รอยเก่ายังไม่ทันหายไป ก็มีรอยใหม่เกิดขึ้น ทำให้ไม่รู้ตัวว่ารอยเดิมได้จางหายไปแล้ว จึงคิดว่าเป็นอยู่นาน แต่ในความจริงเป็นการกลับมาเกิดซ้ำของเชื้อรานั่นเอง

                   การป้องกันเชื้อราแมวและการกลับมาเกิดซ้ำ

  • ทำความสะอาดมือและอวัยวะต่าง ๆ ทุกครั้ง หลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง
  • ทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ
  • ทำความสะอาดสิ่งของภายในบ้านที่สัตว์เลี้ยงมีการสัมผัส เช่น โซฟา หมอน พรมปูพื้น เป็นต้น
  • หากมีการติดเชื้อราแมว หลังรักษาคนแล้ว ควรนำสัตว์เลี้ยงไปรักษาด้วย
  • ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากเกินไป เช่น การนอนร่วมที่นอนเดียวกัน

                   สัตว์เลี้ยงชนิดอื่นทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราได้หรือไม่?

                   นอกจากแมวแล้วสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ก็ทำให้คนเลี้ยงติดเชื้อราได้เช่นกัน หากมีการสัมผัสเกิดขึ้นและสัตว์เลี้ยงนั้นมีเชื้อราอยู่ จึงควรปฏิบัติให้เหมาะสมในเรื่องของความสะอาด ทั้งคนเลี้ยง สัตว์เลี้ยง และของใช้ภายในบ้าน

                   เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่?

                   เชื้อราในสัตว์เลี้ยงสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านการสัมผัสหรือการใช้ของบางอย่างร่วมกัน เช่น การใส่เสื้อผ้าร่วมกัน แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับการติดต่อจากสัตว์ ที่เป็นการติดต่อแบบข้ามสายพันธุ์

                   กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง, เด็ก และผู้สูงอายุ

                   สิ่งที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงที่ทำให้เกิดโรค

  • เชื้อรา
  • ไวรัส
  • แบคทีเรีย
  • ปรสิต (เห็บ หมัด ไร)

                   โรคอื่นที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง

  • โรคหิดลักษณะของสัตว์ที่เป็นหิดเหมือนขี้เรื้อน แต่ไม่ใช่โรคเรื้อน มีขนหลุดร่วง สามารถติดต่อสู่คนได้
  • โรคภูมิแพ้เกิดจากปรสิต (ไร) ในตัวสัตว์เลี้ยง
  • พิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัส

แหล่งที่มา

https://www.thaihealth.or.th/?p=355210

เผยแพร่ : นายปฏิภาณ นามแก้ว
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89
เจ้าของข้อมูล: 
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Hits 508 ครั้ง