อาวุธชีวภาพเป็นไฉน ?

วันที่เผยแพร่: 
Tue 17 August 2021

ในศตวรรษนี้เทคโนโลยีที่เป็นที่สนใจของสังคม คือ เทคโนโลยีสารสนเทศและเทศโนโลยีชีวภาพ เฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพนั้นมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เทคโนโลยีชีวภาพเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การสาธารณสุข
เทคโนโลยีชีวภาพ หมายถึง การนำเอาสิ่งมีชีวิตหรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตมาปรับปรุงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์มากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพก็เหมือนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีผู้นำประโยชน์ของเทคโนโลยีไปใช้ในทางลบ เช่น นำเอาสิ่งมีชีวิตที่เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์มาใช้เป็นอาวุธทำลายล้างกัน ที่เรียกว่าอาวุธชีวภาพ ซึ่งเป็นมหันตภัยที่คุกคามมวลมนุษย์อย่างมาก สิ่งมีชีวิตที่นำมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้แก่พวกจุลินทรีย์ ที่เป็นเชื้อโรค รวมทั้งชิ้นส่วนของจุลินทรีย์ เช่น สปอร์ หรือเส้นใยของราหรือแบคทีเรีย รวมทั้งพรีออน ( Prion : เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโรคที่ไม่ใช่เซลล์และไม่มีสารพันธุกรรมมีแต่โปรตีน) และสารพิษที่สกัดจากสิ่งมีชีวิต

ในอดีตมีการนำจุลินทรีย์ที่เป็นเชื้อโรคมาใช้เป็นอาวุธชีวภาพมานานแล้วแต่เป็นการผลิตตามธรรมชาติ ในปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต ทำให้ผลิตได้รวดเร็ว ก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างจากลักษณะของโรคที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายที่มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม และระบาดหรือแพร่กระจายในวงกว้าง จุลินทรีย์บางชนิดอาจสร้างสารพิษได้ไม่มากเท่าไร แต่ถ้ามีการนำเทคโนโลยีชีวภาพทางด้านพันธุวิศวกรรมมาใช้ จุลินทรีย์ชนิดนั้นจะสามารถผลิตสารพิษได้มากขึ้น หรือทนต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้น เมื่อนำไปใช้เป็นอาวุธก็จะเกิดความรุนแรงอย่างมากหรือดื้อต่อยาต้านจุลชีพ หรือการให้วัคซีนไม่ได้ผล ส่วนใหญ่จะแพร่กระจายได้ดีสมบัติจะเปลี่ยนไปจากเดิม ยากต่อการจำแนกและรักษา

จุลินทรีย์ที่จะใช้เป็นอาวุธชีวภาพควรมีลักษณะอย่างไร ?

คำตอบคือ ต้องทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและมีผลกระทบต่อมนุษย์ หรือมีผลต่อมนุษย์โดยตรง นอกจากนี้ยังต้องผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ มีความคงทนในการผลิตและในการเก็บรักษา เก็บไว้ได้นาน กลายพันธุ์ยาก มีความสามารถในการแพร่กระจายสูง และมีระยะฟักตัวสั้น ทนต่อสภาพแวดล้อม ใช้ปริมาณน้อยแต่มีพิษร้ายแรง นอกจากนี้ต้องมีคุณสมบัติเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง เช่น โรคแอนแทรกซ์ ถ้าเข้าสู่ร่างกายทางเดินหายใจก็จะทำให้เกิดโรคที่ปอด แต่ถ้าเข้าทางผิวหนังก็จะเกิดอาการทางผิวหนัง ถ้าเข้าทางเดินอาหารก็จะเกิดอาการในกระเพาะอาหารและลำไส้ เชื้อโรคที่ใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เช่น โรคแอนแทรกซ์ หรือโรคกาลี ไข้ทรพิษ ไทฟอยด์ กาฬโรค ไวรัสไข้เลือดออก โรคทูลารีเมีย ฯลฯ สารพิษที่ใช้เป็นอาวุธชีวภาพ เช่น สารพิษบอทลึซึม

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างอาวุธชีวภาพสัก 2 - 3 ชนิด
Antrax หรือโรคกาลี เป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นรูปแท่ง ทำให้เกิดโรคระบาดในสัตว์ส่วนใหญ่เป็นสัตว์กินหญ้า เช่น โค กระบือ และติดต่อมาถึงคน เมื่อคนสูดลมหายใจเอาสปอร์ของ เชื้อโรคนี้ที่อยู่ในอากาศเข้าไปสัมผัสหรือกินสัตว์ที่เป็นโรคนี้ ถ้าเข้าสู่ทางเดินอาหารจะทำให้อุจจาระร่วง อาจจะถ่ายออกมาเป็นเลือด ถ้าเข้าทางเดินหายใจจะทำให้เกิดปอดบวม หายใจไม่ออก ถ้าเข้าทางผิวหนัง ผิวหนังจะเป็นแผล

1. Information Paper - Anthrax as a Biological Warfare Agent
Smallpox หรือไข้ทรพิษ เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในสภาพแห้งหรืออุณหภูมิได้นาน ถ้าผู้อ่านมีอายุประมาณ 40 - 50 ปี คงจำได้ว่า จะมีการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งนักเรียนทุกคนต้องฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันไข้ทรพิษ แต่ในปี พ.ศ. 2523 ก็มีการหยุดฉีดวัคซีนกัน เนื่องจากองค์การอนามัยโลกประกาศว่าไข้ทรพิษหมดไปจากโลกนี้แล้ว โรคนี้พวกเรากลัวกันมาก เพราะเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ทำให้เกิดตุ่มนูนแดงทั่วตัวต่อมาตุ่มจะใสแล้วเป็นหนอง ถ้าเชื้อโรคนี้เข้าสู่กระแสเลือดจะกระจายไปทั่วร่างกายก็จะตายได้

2. Smallpox as a Biological Weapon: Medical and Public Health Management
Botulism เป็นแบคทีเรียรูปแท่ง สามารถสร้างสารพิษที่มีผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รวมทั้งกล้ามเนื้อหัวใจ ติดต่อกันได้ทางการกินและบาดแผล เช่น กินอาหารกระป๋องที่มีพิษของแบคทีเรียนี้เข้าไปอาจทำให้ตายได้ พบว่าเพียง 1 กรัม ทำให้คนตายได้ถึง 1.5 ล้านคน

3. Botulinum Toxin as a Biological Weapon: Medical and Public Health Management
อาวุธชีวภาพมีฤทธิ์และพิษภัยร้ายแรงมากกว่าสารเคมีหลายเท่า เรามอง ไม่เห็น ไม่รู้รส และไม่ได้กลิ่น รับเข้าสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว การป้องกันจึงทำได้ยาก

มีผู้กล่าวว่าในอนาคตการต่อสู้กันในรูปแบบสงครามจะลดลง และการต่อสู่กันโดยผู้ก่อการร้ายจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้อาวุธชีวภาพในการก่อการร้าย ประเทศต่างๆ คงจะต้องให้ความสนใจในเรื่องอาวุธชีวภาพมากขึ้นกว่านี้ ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่เกิดโรคระบาดอย่างรุนแรง รวดเร็ว กว้างขวาง ต่อชีวิตพืช สัตว์ หรือมนุษย์อาจเป็นไปได้ที่เกิดจากอาวุธชีวภาพ จะต้องมีการสกัดทำลายอย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าปล่อยปละหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจจะสร้างความหายนะสุดที่จะคณานับ

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-biology/item/378-biotechnology

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B8%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%89%E0%B8%99
Hits 347 ครั้ง