แผลคีลอยด์เกิดจากอะไร?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 17 March 2022

   คีลอยด์ (Keloid) คือ แผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่าแผลที่เป็นต้นเหตุ โดยมีลักษณะเป็นเนื้อนูนแข็งสีชมพู สีแดง หรืออาจจะมีสีเนื้อเข้มกว่าผิวหนัง อันเกิดจากกระบวนการสมานแผลของผิวหนังที่ผิดปกติ โดยแผลที่ทำให้เกิดคีลอยด์มักจะเป็นแผลที่ลึกถึงชั้นหนังแท้บริเวณที่พบคีลอยด์ได้บ่อยคือ หน้าอก หัวไหล่ ใบหน้า ติ่งหูที่ผ่านการเจาะหู หรือตามข้อศอกและหัวเข่า แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของผิวหนังบนร่างกายที่มีแผลลึกและใหญ่เช่นกัน ปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถรักษาคีลอยด์ให้หายถาวรได้ มีแต่วิธีที่ทำให้คีลอยด์มีขนาดเล็กลงและกลมกลืนกับผิวหนังให้มากที่สุด หลังจากรักษาแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นได้ใหม่อีกด้วย และในช่วงวัยรุ่นมีโอกาสเป็นคีลอยด์ได้มากกว่าวัยสูงอายุ

สาเหตุของการเกิดคีลอยด์

   แผลเป็นคีลอยด์มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อบนชั้นผิวหนังที่ผลิตคอลลาเจนขึ้นมาสมานบาดแผลมากเกินไป ทำให้เกิดก้อนเนื้อนูน หากก้อนนูนมีขนาดเท่ากับรอยแผลจะเรียกว่า Hypertrophic Scar แต่ถ้าก้อนนูนขยายใหญ่กว่าบาดแผลจึงจะเรียกว่า Keloid

   แผลคีลอยด์มักจะเกิดขึ้นจากบาดแผลที่ลึกและใหญ่ เช่น แผลผ่าตัด แผลที่เกิดจากของมีคมบาด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลจากอุบัติเหตุ แผลจากการเป็นอีสุกอีใส แผลจากสิว แผลจากการรับวัคซีน รวมถึงแผลจากการเจาะหูและการสัก

   ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้เท่าๆ กัน แต่ผู้ที่มีผิวสีเข้มมีแนวโน้มที่จะเกิดคีลอยด์ได้มากกว่าผู้ที่มีผิวสว่าง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่สามารถเกิดแผลคีลอยด์ได้ง่ายขึ้นคือ คนเอเชีย คนละติน ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นแผลคีลอยด์

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดแผลคีลอยด์

   นอกจากการป้องกันไม่เกิดการบาดเจ็บของผิวหนัง ทั้งงดสัก งดทำศัลยกรรม งดบีบสิว งดแกะเกาผิวหนังแล้ว แต่หลายครั้งก็ไม่สามารถเลี่ยงได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการดูแลแผลเมื่อเกิดบาดแผล เป็นวิธีป้องกันการเกิดแผลเป็นคีลอยด์ได้ดีที่สุด สามารถทำได้ดังนี้
1.ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำเกลือ
2.ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ
3.พยายามทำให้แผลแห้ง ไม่เปียกน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก
4.ห้ามแกะ แคะ เกาแผล
5.สำหรับแผลตุ่มน้ำ ห้ามเจาะตุ่มน้ำควรปล่อยให้แผลหายเอง
6.หลังจากแผลหายดีแล้ว ให้เริ่มใช้เจลซิลิโคนทาแผลหรือครีมที่มีสารสกัดหัวหอม

แหล่งที่มา
https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/keloid.html#what-causes-keloid

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%81%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%B5%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%94%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 656 ครั้ง