4 ก๊าซพิษที่แฝงตัวอยู่ในหมอกควัน

ก๊าซพิษ 4 ชนิดนี้ เป็นก๊าซพิษหลักที่แฝงตัวอยู่ในหมอกควันเข้ามาทำร้ายสุขภาพร่างกาย
1.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide,NO2)
ลักษณะทางกายภาพ:เป็นแก๊สสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นเหม็นฉุน
อาการทางคลินิก
อาการเฉียบพลัน: ถ้าปริมาณปนเปื้อนในอากาศน้อย จะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนเพียงเล็กน้อย ส่วนในกรณีที่ปริมาณปนเปื้อนในอากาศมาก จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนบน คือ แสบจมูก ไอ เจ็บคอ และมีอาการแสบตาร่วมด้วยได้
อาการสำคัญที่ต้องระวัง: การระคายเคืองทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดหลังจากหายใจนำสารนี้เข้าไปแล้วประมาณ 24 ชั่วโมง ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) และร่างกายขาดออกซิเจนรุนแรงจนเสียชีวิตได้ ถ้ารักษาภาวะปอดบวมน้ำจนดีขึ้น อาจเกิดภาวะหลอดลมฝอยอุดกั้น (Bronchiolitis obliteran) จากการอักเสบเรื้อรังจนผังผืดในหลอดลมฝอย
อาการเรื้อรัง: ก่อให้เกิดโรคหอบหืด พังผืดในเนื้อปอด และถุงลมโป่งพองได้

2.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur Dioxide,SO2)
ลักษณะทางกายภาพ:แก๊สไม่มีสี มีกลิ่นแสบฉุน
อาการทางคลินิก
อาการเฉียบพลัน: เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ หากได้รับเข้าไปปริมาณเล็กน้อยจะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบหายใจ มีอาการไอมาก อาจมีภาวะปอดบวมน้ำตามมาได้ และออกฤทธิ์ระคายเคืองต่อเยื่อบุต่างๆ โดยเฉพาะดวงตา
อาการเรื้อรัง: ทำให้การดมกลิ่นเสียไป และทำลายหลอดลมและเนื้อเยื่อปอด เกิดภาวะหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบเรื้อรัง

3.โอโซน (Ozone,O3)
ลักษณะทางกายภาพ:แก๊สสีฟ้าอ่อน มีกลิ่นคล้ายคลอรีน
อาการทางคลินิก
อาการเฉียบพลัน: เข้าสู่ทางกายทางการหายใจ ทำให้เกิดการระคายเคืองคอ เจ็บคอ และไอมาก ในเด็กเล็กส่งผลให้พัฒนาการปอดผิดปกติ กระตุ้นการเกิดภาวะหอบหืดเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง
อาการเรื้อรัง: เกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

4.คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide,CO)
ลักษณะทางกายภาพ:แก๊สไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
อาการทางคลินิก
อาการเฉียบพลัน: หากได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์จากการหายใจในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ กระสับกระส่าย สับสน การมองเห็นผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว และมีการหายใจที่เร็วขึ้น กรณีได้รับเป็นปริมาณมากๆ จะทำให้เกิดภาวะหมดสติ ชัก ภาวะช็อก กดการหายใจรวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะสมองบวม และอาจเสียชีวิตได้ ถ้าหากไม่เสียชีวิตหลังจากที่ได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์ปริมาณมากๆ แล้วก็มักจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทตามมา เช่น ภาวะหลงลืม (dementia) จิตเภท การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ภาวะอารมณ์ผิดปกติ บุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป
อาการเรื้อรัง: การได้รับคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณต่ำๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการอาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ใจสั่นได้ ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง แยกได้ยากจากภาวะอาหารเป็นพิษหรือการติดเชื้อไวรัส

วันที่: 
Mon 5 July 2021
แหล่งที่มา: 
https://www.holismedicare.com/content/5303/4-ก๊าซพิษแฝงตัวอยู่ในหมอกควัน
Hits 1,743 ครั้ง