ครั้งแรกของไทย กับการส่งขบวนพาเหรดเข้าร่วม World Pride 2019

วันที่เผยแพร่: 
Thu 4 July 2019

เสียงขบวนแห่กลองยาว ที่ลุงป้าน้าอาชาวไทยพร้อมใจกันบรรเลง เป็นการประกาศว่าคนไทยในมหานครนิวยอร์กที่มายืนตั้งขบวนอยู่บนถนน Fifth Avenue กลางเกาะแมนฮัตตัน พร้อมแล้วที่จะเข้าร่วม World Pride Parade เพื่อเฉลิมฉลองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศร่วมกับหลายประเทศทั่วโลก

ปีนี้เป็นปีแรกที่ประเทศไทยส่งขบวนเข้าร่วมงาน World Pride ที่นิวยอร์กเป็นเจ้าภาพ ในวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้จัดคาดว่ามีผู้เข้าร่วมเดินและผู้ที่มาชมขบวนพาเหรดตลอดสองข้างทางนับล้านคน

การส่งขบวนเข้าร่วมในปีนี้ คุณจริญญา เกียรติลัภนชัย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนิวยอร์ก กล่าวกับวีโอเอไทยว่า ททท. ต้องการประชาสัมพันธ์ว่าประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม รวมไปถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ และได้ทำแคมเปญ "Go Thai Be Free" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเป็นเวลา 7 ปีแล้ว

“ตลาดอเมริกานี่ก็มีคนประกาศตัวว่าเขาเป็น LGBT ประมาณ 5 ล้านกว่าคน เราก็เชื่อว่ากลุ่มนี้จะเป็น target ของเรา เราเชื่อมั่นว่าตลาดนี้จะโตขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน้อยการที่ ททท.เปิดตัวตลาดนี้ขึ้นมา อย่างน้อยเราเชื่อว่าคนเหล่านี้จะวางใจที่จะไปประเทศไทยมากขึ้น บางประเทศขณะที่มีการเปิดรับ บางประเทศก็ไม่ยอมรับคนกลุ่มนี้ อันนี้เป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยแตกต่างจากประเทศอื่น เราก็คิดว่าจุดแข็งที่แตกต่างอันนี้ จะมีนักท่องเที่ยว LGBT ไปเมืองไทยมากขึ้น”

คนไทยทั้งที่อาศัยอยู่ในนิวยอร์กและที่มาจากรัฐอื่น ๆ พร้อมใจกันแต่งตัวชุดแฟนซี เพื่อสร้างสีสันและความสนุกสนานให้คนที่มาร่วมงาน เช่นเดียวกับ คุณสมพร อุทัยกิติศัพท์ ชาวไทยในนิวยอร์กที่บอกว่าเธอมาให้กำลังใจกลุ่ม LGBTQ ไทยโดยเฉพาะ

"เราอยากจะสนับสนุน เราก็เลยมาเหมือนกันแม้ว่าเราจะเป็นผู้หญิง แต่เราก็มีความสนับสนุนที่จะให้เพื่อนเราที่เป็นคนไทยมี choice ที่เขาจะเป็นอะไรก็ได้ที่เขาต้องการ"

World Pride ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่น ๆ เพราะตรงกับการครบรอบ 50 ปีของเหตุจลาจล Stonewall Riots ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวเกย์และเลสเบี้ยนในนิวยอร์กรวมตัวกันต่อต้านตำรวจ ที่บุกเข้ามาจับกุมพวกเขาในบาร์ Stonewall Inn

ในปี ค.ศ. 1969 การเป็นคนรักเพศเดียวกัน และการแต่งกายข้ามเพศในสหรัฐฯ ยังคงผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขามักจะถูกกลั่นแกล้ง ถูกเลือกปฏิบัติ ส่วนบาร์ที่เป็นแหล่งพบปะของชาวเกย์และเลสเบี้ยน เช่น Stonewall Inn ก็มักจะถูกตำรวจบุกค้นตรวจจับอยู่เสมอ แต่ละครั้งก็มักจะมีการใช้ความรุนแรง เพียงแต่ในเช้ามืดของวันที่ 28 มิถุนายน ปีค.ศ. 1969 เกย์และเลสเบี้ยนใน Stonewall Inn เลือกที่จะต่อสู้ ไม่ยอมจำนน จนนำไปสู่การจลาจล และเป็นจุดเริ่มต้นที่การเรียกร้องสิทธิและความเสมอภาคของกลุ่ม LGBTQ ขยายตัวไปในวงกว้าง

คุณ สุกฤษฎิ์ เกษกลิ่นหอม เกย์ไทยในวอชิงตันดีซี บอกว่างาน Pride เป็นช่วงเวลาที่ทำให้หลายคนได้รู้สึกภูมิใจกับเพศสภาพของตัวเอง และรำลึกถึงการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่มีมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

“มันทำให้เรารู้ว่า กว่าที่เราจะมีไพรด์อย่างทุกวันนี้ เราต้องต่อสู้กับอะไรมากมาย...มันไม่ใช่การแต่งตัวสวย มันไม่ได้เป็นการแต่งตัวออกมาอวดโชว์กัน มันเป็นการโชว์ให้โลกได้เห็นว่าเรามีตัวตน เราเป็นเกย์ เราเป็นเลสเบี้ยน เราเป็น LGBT เราเป็นส่วนหนึ่งของโลก”

ชาว LGBTQ ไทยที่อยู่ในสหรัฐฯ บอกกับวีโอเอไทยว่า ประเทศไทยมักจะถูกมองว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่ม LGBTQ เพราะมีความเป็นมิตร ปลอดภัย

แต่ในขณะที่สังคมไทยเปิดกว้างและให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา หลายคนกลับรู้สึกว่า การดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง ยังไม่เดินหน้าไปเท่าที่ควร

คุณเฉลิมราช ฉายมงคลชัย เกย์ไทยที่มาร่วมงาน World Pride บอกว่าสังคมไทยยังมีการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

“ในสังคมตอนนี้ เขาเหมือนจะยอมรับว่าเรามีตัวตน แต่ในความเป็นจริง เรายังถูกกีดกัน เรายังถูกปิดกั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหางาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออก การแต่งตัวแบบนี้ เป็นแบบนี้ ไม่ใช่เราผิด เราแค่ต้องการแสดงออกสิ่งที่เราเป็น อยากให้คนไทยมองว่าเราไม่ใช่จุดบกพร่อง แค่นั้นเอง นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุดที่อยากเห็น”

ส่วนคุณฐิตวัฒน์ โภคทรัพย์ทอง เจ้าของกิจการร้านอาหารไทยในกรุงวอชิงตันดีซี กล่าวว่า เขาสนับสนุนให้เมืองไทยจัดงาน Pride ทุกปี เพื่อเป็นการให้กำลังใจกลุ่ม LGBTQ ในทุกภาคส่วนของสังคม

ในขณะที่นิวยอร์ก และเมืองใหญ่ ๆ อย่าง มะนิลา มิลาน ปารีส และเม็กซิโก ซิตี้ ออกมาเฉลิมฉลอง Pride อย่างเสรีและปลอดภัยในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในอีกหลายเมืองกลับไม่มีโอกาสแบบเดียวกัน ในกรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี LGBTQ ถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ เพื่อบังคับให้เลิกจัดงาน Pride ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งย้ำเตือนว่า ยังมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในอีกหลายมุมของโลกที่ยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%9A%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1-world-pride-2019
Hits 347 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: