ภัยล่องหนจากไมโครพลาสติก

วันที่เผยแพร่: 
Fri 26 October 2018

เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วว่าขยะพลาสติกมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตคิดว่าพลาสติกเป็นอาหารและกินเข้าไป ทำให้ไม่สามารถย่อยได้และเกิดการอุดตันของทางเดินอาหาร หรือพลาสติกบางรูปทรงอาจไปเกี่ยวอวัยวะหรือตัวของสัตว์ ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเสี่ยงต่อชีวิตของสัตว์ทั้งบนบกและในน้ำ แต่ยังมีภัยอีกรูปแบบหนึ่งจากพลาสติก ที่เรียกว่าไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติกคือ ชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตร ถึง 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกมีที่มาจากหลายแหล่งอาทิเช่นไมโครพลาสติกบนบกซึ่งส่วนมากมาจากการเสียดสีของยางรถยนต์กับถนน หรือสีที่ใช้ทาอาคารหรือยานพาหนะ แม้กระทั้งผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ นอกจากนี้ยังมีการผลิต ไมโครบีดส์ ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกจิ๋วที่เป็นส่วนผสมในสบู่ล้างหน้า เจลขัดผิวไมโครพลาสติกเหล่านี้ล้วนสามารถลอดผ่านจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียลงสู่ทะเลได้ อีกทั้งขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเมื่อถูกรังสียูวีจากดวงอาทิตย์ จะสลายโครงสร้างเป็นชิ้นเล็กลงได้ กลายเป็นไมโครพลาสติก โดยเฉพาะในมหาสมุทรน้ำอุ่นพลาสติกขนาดใหญ่จะย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก

ไมโครพลาสติก สามารถดูดซึมสารพิษที่มีอยู่ในทะเล ดังนั้นยิ่งอยู่ในน้ำทะเลนาน ไมโครพลาสติกจะมีความเป็นพิษเพิ่มสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตตั้งแต่ต้นห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นแพลงตอนสัตว์ในทะเลจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับพลาสติกล่องหนเหล่านี้เข้าไป ส่วนสิ่งมีชีวิตท้ายห่วงโซ่อาหารอย่างเช่นมนุษย์อาจได้รับสารพิษตกค้าง เพราะไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กสามารถผ่านผนังเซลล์ มีนักวิจัยนำเสนอความเป็นไปได้ว่าอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้อาจโดนลมพัดและล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดของสิ่งมีชีวิตได้ เป็นเหมือนมลภาวะทางอากาศเช่นเดียวกับไอเสียจากรถยนต์

นอกจากนี้กระบวนการผลิตพลาสติกบางส่วนมีการใส่สารเคมีเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับพลาสติก เช่น Bisphenol A (BPA) ซึ่งส่งผลกับการเจริญเติบโตของเด็ก และพบ Poly Bromodifenyl Ether (PBDE) ในเนื้อเยื่อของนกที่อาศัยแถวทะเล ซึ่งเป็นสารมีพิษที่ใส่ในพลาสติกเพื่อกันการติดไฟ

ไมโครพลาสติกจึงเป็นผลมาจากที่เกิดจากการใช้พลาสติก ซึ่งได้แฝงตัวอยู่รอบตัวเราโดยที่เราคาดไม่ถึง และเป็นภัยอันตรายกับสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์ซึ่งถือว่าอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารดังนั้นเราควรตระหนักถึงการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีบางบริษัทที่มีการนำพลาสติกมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือนำวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติมาใช้แทนพลาสติก แต่นวัตกรรมเหล่านี้ล้วนยังมีราคาสูง หากทุกคนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการกระทำที่ช่วยในการลดการใช้ (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) หรือ แปรรูป
(Recycle) พลาสติก อาจมีทางช่วยบรรเทาหรือแม้กระทั้งลดปัญหาได้ในอนาคต

แหล่งอ้างอิง:
http://science.howstuffworks.com/science-vs-myth/everyday-myths/how-long...
http://www.plasticsoupfoundation.org
http://www.ecowatch.com/scientists-warn-that-you-could-be-inhaling-chemi...
http://grist.org/living/2011-12-07-how-microplastics-cause-macro-problem...

เรียบเรียงโดย: นางสาวนุชจริม เย็นทรวง

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81
Hits 424 ครั้ง