ขวดน้ำตากแดด กินแล้วตุยไหม

วันที่เผยแพร่: 
Fri 26 May 2023

      หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวว่า ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก (PET) ในรถที่จอดตากแดด” แล้วทำให้สารเคมีจากขวดน้ำปนเปื้อนออกมา ทำให้ดื่มแล้วเกิดอันตรายต่อร่างกาย วันนี้พวกเราทาง STKC จะพาไปตามหาความจริงกันครับ
      รศ.ดร.เจษฎา อธิบายว่า ขวดประเภท PET “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ได้เคยออกมาชี้แจงและให้ข้อมูลหลายครั้งแล้วว่า ขวดพลาสติกประเภทนี้ เป็นขวดที่ออกแบบมาให้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่ง อย. มีการกำหนดคุณภาพมาตรฐานของภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกอยู่แล้ว หากใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งก็ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพแต่อย่างใด
      เหตุที่ไม่ควรเอาขวด PET มาใช้ซ้ำ ไม่ใช่เพราะว่ากังวลเกี่ยวกับสารเคมีปนเปื้อนจากขวดออกมาสู่น้ำดื่ม แต่เป็นเพราะหากใช้ซ้ำจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่ตกค้างอยู่ในขวดน้ำมากกว่า ถ้าล้างไม่ดีพอก่อนที่จะบรรจุซ้ำใหม่ อีกทั้ง กรณีของ “สารอะซิทัลดีไฮด์” ที่อาจปนเปื้อนออกมาจากขวด PET นั้น ส่วนใหญ่จะพบการตกค้างของสารดังกล่าวในกระบวนการผลิตขวด แต่ก็ตรวจพบน้อยมากๆ ซึ่งไม่มีผลเสียต่อร่างกายแต่อย่างใด 
      ส่วนกรณีของการดื่มน้ำจากขวดพลาสติกในรถที่จอดตากแดดแล้วทำให้มีสาร Bisphenal A (BPA) และสารก่อมะเร็งปนเปื้อนออกมานั้น สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นขวดขาวขุ่น (ขวด PE) หรือขวดใส (ขวด PET)  แม้จะตากแดดก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด และสาร BPA ก็ไม่ได้เป็นองค์ประกอบของพลาสติกที่มาทำเป็นขวด PET ด้วย
      ก่อนหน้านี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เคยทำการทดลองกรณีนี้แล้ว ด้วยการนำน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกที่จําหน่ายในตลาดสดและซุปเปอร์มาเก็ต จํานวน 18 ยี่ห้อ ไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน

ทบทวนอีกที "ขวดน้ำ" ตากแดดร้อนนานๆ มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่?
      จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่ม Dionxin จํานวน 17 ตัว และ PCB จํานวน 18 ตัว โดยใช้เทคนิคขั้นสูง Isotope Dilution และวัดปริมาณด้วยเครื่องมือ High Resolution Gas Chromatography/High Resolution Mass Spectrometry ผลการวิเคราะห์สรุปว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่ม Dionxin และ PCB ในทุกตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวด ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า สามารถดื่มน้ำบรรจุขวดได้อย่างปลอดภัยไร้สารก่อมะเร็ง 

สรุป : น้ำดื่มที่บรรจุขวด PET และเก็บในรถที่จอดตากแดดนั้น ไม่ได้อันตราย ไม่ได้มีสารก่อมะเร็งปนเปื้อน ตัวของขวด PET เอง ก็สามารถเก็บน้ำดื่มไว้ได้นานถ้ายังไม่ได้เปิดขวด (แต่ก็ควรจัดเก็บในที่ที่ไม่ร้อน ไม่ใช่เอาไปตากแดดไว้เวลาหลายเดือน) และถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรเอามาใช้ซ้ำครับ
      
แหล่งที่มา
https://siweb.dss.go.th/index.php/th/accordion-1/4866-pet-4
https://www.facebook.com/watch/?v=1018668581916445
https://www.hfocus.org/content/2014/06/7329

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94-%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A2%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1
Hits 1,137 ครั้ง