จันทรุปราคา พระจันทร์เป็นสีเลือด เกิดขึ้นได้อย่างไร

วันที่เผยแพร่: 
Fri 27 October 2023

     จันทรุปราคา หรือ จันทรคราส เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เราเคยร่ำเรียนกันมาในสมัยเด็ก ๆ แต่เชื่อค่ะว่าบางคนคืนความรู้ให้คุณครูกันไปหมดแล้ว  STKC เลยจะมาทบทวนเรื่องจันทรุปราคาให้ทุกคนได้ทราบกันอีกครั้ง ว่าจันทรุปราคาเกิดขึ้นได้อย่างไร พระจันทร์เป็นสีเลือดนี่เกิดจากอะไร แล้วความเชื่อบางอย่างที่มาพร้อมกับจันทรุปราคาคืออะไรกันแน่

     จันทรุปราคา (Lunar eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อโลกอยู่ในตำแหน่งกลางระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงจันทร์เคลื่อนผ่านเข้าไปในเงาของโลก ส่วนสุริยุปราคา (Solar eclipse) จะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้เงาของดวงจันทร์ทอดยาวตกลงบนพื้นโลก

จันทรุปราคานั้นสามารถจำแนกออกได้เป็น 3 แบบ
1.จันทรุปราคาเต็มดวง (Total lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อเงาของโลกบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์เกือบทั้งหมด เนื่องจากเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกใหญ่กว่าของดวงจันทร์ 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างบางส่วนที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปถึงดวงจันทร์ได้ ปรากฎการณ์นี้ทำให้เกิดการกรองแสงสีฟ้าออกไป จนเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงคล้ายเลือด

2.จันทรุปราคาบางส่วน (Partial lunar eclipse) เกิดขึ้นเมื่อพื้นผิวของดวงจันทร์เพียงบางส่วนเข้าไปในเงาของโลก สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง และมักเกิดขึ้นบ่อยถึงปีละสองครั้งเป็นอย่างน้อย เงาที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์อาจปรากฏเป็นสีแดงสนิมไปจนถึงสีเทาคล้ายเถ้าถ่าน ขึ้นอยู่กับองศาของการเกิดจันทรุปราคาครั้งนั้น

3.จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse) เกิดจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามัวของโลก ซึ่งเป็นเงาที่มีความสว่างมากกว่าเงามืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่า ยิ่งพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวไม่มากนัก ก็จะยิ่งสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ไม่ค่อยมีการแจ้งถึงปรากฏการณ์นี้ให้คนทั่วไปได้ทราบ

จันทรุปราคากลายเป็นพระจันทร์สีเลือดได้อย่างไร

          ปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือดในคืนที่มีจันทรุปราคา เหตุที่พระจันทร์กลายเป็นสีแดง สีส้มอิฐ จนถูกเรียกขานว่าพระจันทร์สีเลือด นั่นก็เพราะเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้ามาอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่งผลให้แสงสีแดงจากดวงอาทิตย์หักเหผ่านบรรยากาศของโลกไปกระทบกับดวงจันทร์ ก่อให้เกิดเป็นพระจันทร์สีเลือดขึ้นได้

          และเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนตัวออกจากเงามืดของโลก โดยผ่านเงามัวของโลก จุดนี้เราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวง แต่ความสว่างของดวงจันทร์จะลดน้อยลงและไม่เจอแสงดวงอาทิตย์ส่องกระทบให้เห็นเป็นพระจันทร์สีเลือดอีก ซึ่งช่วงเวลานี้จะค่อนข้างสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ได้ค่อนข้างยากค่ะ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ต.ค.2566 ซึ่งตรงกับ "ดวงจันทร์เต็มดวง" ในเช้าวันออกพรรษา จะเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาบางส่วน" ในช่วงเช้ามืด สำหรับประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.01 - 05.26 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01.01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก

แหล่งที่มา
https://www.bbc.com/thai/international-63538657
https://travel.trueid.net/detail/0yvOnXkEwGM7
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

 

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 11,114 ครั้ง