อัปเดตนวัตกรรม ทางการแพทย์ที่มาแรงในปี 2023

วันที่เผยแพร่: 
Fri 2 February 2024

   เป้าหมายของรัฐบาลของทุกประเทศในด้านสาธารณสุข คือการดูแลประชาชนของตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีและทั่วถึง โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขไปพร้อมๆกัน การผลักดันการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังให้ความสนใจ เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้นสามารถทำให้การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ และราคาถูกลง

แพลตฟอร์ม In-part (https://in-part.com/) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงทีมนักวิจัยกับบริษัทเอกชน ได้วิเคราะห์ยอดการขอติดต่อกับทีมวิจัย ผลการตอบรับจากบริษัทต่างๆ และยอดการเข้าอ่านบทความของนวัตกรรม และจัดทำรายชื่อนวัตกรรมทางการแพทย์ที่กำลังถูกสนใจมากที่สุดในปี 2023 โดย จำนวน 17 นวัตกรรมออกมา ได้แก่

1. วิธีการรักษาการอักเสบที่มีไบโอฟิล์มแบบใหม่ด้วยเอนไซม์ – Texas Tech University System
เทคนิคการใช้ส่วนผสมเอนไซม์พิเศษ ร่วมกับยาปฏิชีวนะในการรักษาแผลติดเชื้อ โดยเอนไซม์จะกำจัดไบโอฟิล์มออกจากแผลได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องตัดเนื้อเยื่อออก

2. ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่สำหรับแบคทีเรียแกรมบวก – University of California, Irvine
ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ซึ่งได้ผลดีกับแบคทีเรียประเภทแกรมบวก เพื่อใช้สำหรับรักษา MRSA และวัณโรค

3. สารยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์มชนิดใหม่ – Georgia State University
สารประกอบจากต้น Gesho ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดไบโอฟิล์ม ซึ่งสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้หลากหลาเช่น การติดเชื้อในท่อปัสสาวะและแผลเรื้อรัง

4. ปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสร้างแผ่นรองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน – Pontificiz Universidad Javeriana
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยเบาหวานผ่านเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เพื่อออกแบบแผ่นรองเท้าเฉพาะบุคคล 

5. แผ่นแปะสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพแบบเรียลไทม์ – University of Hawaii
เทคโนโลยี “Sweat Sticker” ซึ่งเป็นแผ่นแปะที่สามารถเก็บข้อมูลทางสุขภาพได้ ผลิตด้วยการพิมพ์ 3 มิติขึ้นมา ทำให้สามารถติดเซ็นเซอร์ได้หลากหลายชนิด เหมาะกับการติดตามโรคเรื้อรังต่างๆในผู้ป่วยทุกวัย

6. ระบบการผ่าตัดใหม่สำหรับการผ่าตัดมะเร็งเต้านม – Queen’s University
ระบบการผ่าตัดแบบใหม่ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลากหลาย เช่น อัลตร้าซาวน์ แม่เหล็กไฟฟ้า และ ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อให้แพทย์ได้รับข้อมูลระหว่างการผ่าตัดที่มีคุณภาพมากขึ้น 

7. ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ไมโครไบโอม (Microbiome) – Science & Technology Facilities Council
ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการวิเคราะห์ไมโครไบโอมในมนุษย์ เพื่อวัดระดับสุขภาพของผู้ป่วย และออกแบบกระบวนการรักษาและดูแลสุขภาพเฉพาะตัวบุคคล

8. เทคนิคการจัดการผู้ป่วยในคลินิกอุบัติเหตุ – Medical University of South Carolina
TRRP Training Toolkit สำหรับจัดการข้อมูลผู้ป่วย และการดูแลผู้ป่วยร่วมกับฝ่ายต่างๆ (Coordinated Care) ผ่านการส่งข้อความและระบบแจ้งเตือน

9. ปัญญาประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมการบำบัดสุขภาพจิต – Cornell University
ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างด้วยข้อมูลจากฐานข้อมูล fMRI ซึ่งสามารถใช้ในการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวช และสามารถให้การบำบัดผ่านทางแอปพลิเคชันได้ 

10.  แขนเทียมสำหรับฝึกเจาะเลือดที่ตอบสนองต่อการสัมผัสได้ – University Health Network
แขนเทียมสำหรับฝึกเจาะเส้นเลือดผู้ป่วย ซึ่งมีการตอบสนองต่อสัมผัส และสามารถควบคุมการขยับนิ้วได้ด้วยรีโมต การฝึกกับแขนเทียมนี้สามารถลดความผิดพลาดในการให้ยาทางเส้นเลือดลงได้ร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับวิธีการฝึกแบบเก่า

11.  เครื่องกางม่านอากาศสำหรับป้องกันไวรัส – Nagoya University
เครื่องสร้างม่านอากาศสำหรับป้องกันละอองลอยในอากาศ และมีเทคโนโลยีแสง UV ช่วยฆ่าเชื้ออากาศที่ผ่านตัวเครื่อง สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทางอากาศจากคนไข้สู่บุคคลากรทางการแพทย์ได้

12.  ระบบสื่อสารระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ด้วยรูปแบบการหายใจ – Case Western Reserve University
ระบบการควบคุมคอมพิวเตอร์ด้วยรูปแบบการหายใจเพื่อผู้พิการ ซึ่งมีราคาถูก และมีความแม่นยำสูงกว่าระบบ Human – machine interface อื่นๆในปัจจุบัน

13.  การส่งยาด้วยภาชนะที่สร้างจากเม็ดเลือดแดง – Imperial College London
เทคโนโลยีการส่งยาไปยังเป้าหมายในร่างกายด้วยภาชนะที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้ยาสลาย และสามารถควบคุมการปล่อยยาได้

14.  ปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจโรคสมอง – Western University
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สำหรับตรวจอาการแรกเริ่มของโรคสมอง ซึ่งสามารถนำมาทดแทนการตรวจแบบเดิมด้วยสารกัมมันตรังสีได้

15.  เครื่องขยายเส้นเลือดสำหรับการเจาะเลือด – University of Huddersfield
อุปกรณ์สำหรับขยายเส้นเลือดซึ่งทำให้เส้นเลือดมีขนาดใหญ่ขึ้น มองเห็นชัดเจนขึ้น ช่วยให้สามารถให้ยาในเด็ก ผู้สูงวัย และผู้ประสบอุบัติเหตุได้ง่ายและเร็วยิ่งขึ้น

16.  เซนเซอร์วัดชีพจรด้วยสารประกอบนาโนจากสาหร่าย – University of Sussex
เซนเซอร์วัดชีพจรที่มีความละเอียดและความแม่นยำสูง ซึ่งทำจากสารประกอบจากสาหร่าย มีราคาถูกและมีความแม่นยำมากกว่าเทคโนโลยีเดิมที่ใช้อยู่

17.  เทคโนโลยีตรวจจับสายตาสำหรับห้องผ่าตัด – University Health Network
ระบบการตรวจจับสายตาของแพทย์ผ่าตัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารระหว่างผ่าตัด โดยระบบนี้เป็นระบบการตรวจจับสายตาแรก ที่เป็นระบบเฉพาะทางสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด

การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์นั้นมีอุปสรรคอยู่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การขาดแคลนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญ ซึ่งการร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจและภาควิชาการสามารถเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหานี้ได้ เพราะว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็มีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ภาคธุรกิจมีความรู้และประสบการณ์จากการทำงานในสถานการณ์จริง ส่วนภาควิชาการมีความเชี่ยวชาญในการทำวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เครื่องมือเฉพาะทาง และเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายสามารถทำให้ทีมเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การนำผลงานวิจัยมาสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อออกสู่ตลาดนั้น ยังมีอุปสรรคอื่นๆอยู่อีกมากแม้ว่าจะมีความร่วมมือระหว่างบริษัทและนักวิจัยก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับโรงงานอุตสาหกรรม และปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของหลายองค์กร การสื่อสารที่โปร่งใส และคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะลูกค้า/ผู้ป่วย จึงมีความสำคัญมากในการพัฒนานวัตกรรม 

แหล่งที่มา

https://www.tcels.or.th/News/Coming-Soon/Activity-News/3806

เผยแพร่ : นายปฏิภาณ นามแก้ว
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%9B%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%B5-2023
Hits 405 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: